xs
xsm
sm
md
lg

IRPC ชี้น้ำมันพุ่งดันรายได้ปีนี้โตขึ้น ทุ่ม 4.1 หมื่นล้านใน 5 ปีลุย M&A

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไออาร์พีซีคาดปีนี้ทำรายได้โตขึ้น เหตุราคาน้ำมันพุ่งและความต้องการใช้ปิโตรเคมีเพิ่ม มั่นใจไตรมาส 1/2565 จะมีกำไรสต๊อกน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบดูไบใกล้แตะ 100 เหรียญสหรัฐ/ตัน พร้อมทุ่มงบ 5 ปี วงเงิน 4.1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการต่อเนื่องและ M&A โครงการในอนาคต

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทคาดว่ามีรายได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่มีรายได้การขาย 235,174 ล้านบาท เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าปีนี้มีกำลังการผลิตปิโตรเคมีจากจีนและมาเลเซียเข้ามาเพิ่ม รวมทั้งบริษัทมีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในช่วงไตรมาส 4/2565 ทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยลดลงจากปีก่อนที่ 1.92 แสนบาร์เรล/วันมาอยู่ที่ 1.80-1.85 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งไม่กระทบการผลิตปิโตรเคมี คาดว่าปีนี้บริษัทมีค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (Market GIM) ใกล้เคียงปี 2564 ที่ 13.12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบขยับขึ้นมาใกล้ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งสูงกว่าราคาน้ำมันดิบที่ปิด ณ สิ้นปี 2564 ที่ 78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไตรมาส 1/2565 บริษัทจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน


นายชวลิตกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูสงครามยูเครน-รัสเซียจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด ซึ่งในส่วนของประเทศไทยไม่ได้พึ่งพาน้ำมันและก๊าซฯจากรัสเซียจึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนพลังงาน แต่ได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้น โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกไปยุโรป 2.8 ล้านบาร์เรล/วัน และที่อื่นๆ อีก 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน หากถูกคว่ำบาตร ส่วนนี้ส่งออกไม่ได้ ทำให้น้ำมันส่วนนี้หายไปจากตลาด แต่หากทางกลุ่มโอเปกใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ 2-4 ล้านบาร์เรล/วันมาผลิตทดแทน รวมทั้งหากอิหร่านกลับมาส่งออกได้ คาดว่าผลกระทบทางด้านกำลังผลิตที่หายไปคงไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นทำให้ต้นทุนวัตถุดิบคือแนฟทาที่เป็นวัตถุดิบปรับตัวขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาปิโตรเคมีปรับเพิ่มด้วย

ทางด้านการเงินปี 2565 บริษัทจะออกหุ้นกู้ในช่วงไตรมาส 2 นี้เพื่อคืนหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท อาศัยจังหวะช่วงนี้มีอัตราดอกเบี้ยยังไม่สูงมากนัก

นายชวลิตกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ได้วางแผนการลงทุนธุรกิจ 5 ปี (2565-2569) ในวงเงินรวม 41,350 ล้านบาท ตามกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น และสร้างความแข็งแกร่งในฐานธุรกิจปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 25,000 ล้านบาทในปี 2568 และ 35,000 ล้านบาทในปี 2573 มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ สร้างคุณค่าร่วมต่อสังคม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ในปี 2573


โดยวงเงินลงทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 35% หรือราว 1.46 หมื่นล้านบาท เป็นการเตรียมเงินสำหรับการลงทุนในอนาคตตามแผนงาน ซึ่งจะมีทั้งการร่วมทุน (JV) การควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) โดยตั้งเป้าว่าบริษัทจะมีกำลังผลิตที่เป็นสินค้าเกรดพิเศษราว 30% ใน 5 ปีข้างหน้า โดยปีนี้จะเพิ่มเป็น 24% จากปี 2564 อยู่ที่ราว 21% และจะเพิ่มเป็น 55% ในปี 2573

“เราวางแผนดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ การต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง และการสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และต่อยอดความแข็งแกร่งในธุรกิจปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งศึกษาไปพร้อมๆกัน กลุ่ม ปตท.รองรับการคาดการณ์ที่คาดว่าจะมีการใช้น้ำมันในยานยนต์ลดลง ก็จะมองถึงทิศทางการพัฒนาเคมิคอล เฮสต์แคร์ การปรับตัวรองรับอีวี ซึ่งไออาร์พีซีร่วมกับ WHA พัฒนานิคมฯ ที่บ้านค่าย จ.ระยอง ให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกให้บริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท.กับ Foxconn ตั้งโรงงานผลิตรถอีวี รวมทั้งเร่งพัฒนาเม็ดพลาสติกรองรับการผลิตรถอีวี และผลิตภัณฑ์อะเซทิลีนแบล็ก (acetylene black) เพื่อใช้ในแบตเตอรี่ลิเทียม” นายชวลิตกล่าว

โครงการลงทุนที่สำคัญใน 5 ปีนี้ เช่น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project : UCF) มูลค่า 1.33 หมื่นล้านบาท โครงการ Strengthen IRPC เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร โครงการลงทุนทั่วไป และอื่นๆ ตลอดจนการพัฒนา จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1 ปี 2024 โดยแผนงานจะบูรณาการกระบวนการทำงานให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อตอบสนองลูกค้า และแสวงหาตลาดใหม่ เช่น การเข้าสู่ตลาด Advanced Material สำหรับวัสดุด้านสุขภาพ การแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การวิจัยและพัฒนาด้าน Energy Solution ให้สอดรับกับพลังงานในอนาคต และระบบการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าโครงการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ ที่บริษัทฯ ถือหุ้น 60% ในการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 /2565 ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และยกระดับด้านสาธารณสุข และอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น