xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.โกยกำไรปี 64 กว่า 2.3 แสนล้าน อานิสงส์น้ำมันพุ่งหนุนมาร์จิ้นดี-ลุ้นปีนี้โตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2564 เป็นปัจจัยลบที่กดดันต่อกลุ่มธุรกิจรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่พบว่ามีภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่พลิกฟื้นกลับมายืนได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เสียอีก โดยเฉพาะกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทยอย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ที่มีผลประกอบการปี 2564 ที่เติบโตอย่างโดดเด่น สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการพร้อมรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นตัวหนุนให้กลุ่ม ปตท.มีผลดำเนินงานที่แข็งแกร่ง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจ ปตท.ทั้งบวกและลบแตกต่างกันไป เนื่องจาก ปตท.มีธุรกิจที่หลากหลาย ขณะเดียวกัน ปตท.เร่งเดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่รวมทั้งศึกษาพลังงานจากไฮโดรเจน สอดรับวิสัยทัศน์ใหม่ที่มุ่งขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต “Powering Life with Future Energy and Beyond” และเมกะเทรนด์

ที่ผ่านมา ปตท.ได้ตั้งบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% เพื่อมาดูแลการลงทุนธุรกิจเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่เป็น Flagship ในการทำธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ ปตท.ไม่มีพื้นฐานความชำนาญ จำเป็นต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศเพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ยา อาหารเสริม โดยอินโนบิกฯ เตรียมเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจาก 6.66% เป็น 37% ในบริษัท Lotus Pharmaceutical จำกัด ผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวัน และถือหุ้น 60% ในบริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) บริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก คาดว่าจะปิดดีลไตรมาสแรกปีนี้ ส่งผลให้อินโนบิกฯก้าวกระโดดเป็นผู้ดำเนินธุรกิจยาแบบครบวงจรพร้อมบุกตลาดยาระดับโลก และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยามาตรฐานสากลให้แก่คนไทย


นอกจากนี้ อินโนบิกฯได้จับมือกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด ร่วมทุนตั้งบริษัทนิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (NRPT) ล่าสุดบริษัท NRPT ร่วมทุนกับบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษ (Plant & Bean (UK) ) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 'แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย' เพื่อตั้งโรงงานผลิตโปรตีนจากพืชในไทยด้วยกำลังผลิต 3,000 ตันต่อปี โดยนำเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืชชั้นสูงจากประเทศอังกฤษมาใช้ คาดว่าเริ่มก่อสร้างโรงงานในปีนี้ นับเป็นการรุกธุรกิจอาหารเพื่อโภชนาการตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ สอดรับเป้าหมายของอินโนบิกฯ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การผลิตอาหารแห่งอนาคต (Food for Future) ของประเทศด้วย

ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจ EV Value Chain โดยได้จับมือกับบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด ในกลุ่มของบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ Foxconn ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) โดยอรุณ พลัสถือหุ้น 60% เพื่อดำเนินการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เบื้องต้นผลิตรถอีวีราว 50,000 คันภายในปี 2567 และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คันต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อให้ไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาค ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine - ICE) และยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้จัดเตรียมแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2565- 2569) วงเงินรวมประมาณ 9.4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบวิสัยทัศน์ใหม่ และร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วยการลงทุนในพลังงานอนาคต เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบการกักเก็บพลังงาน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ศึกษาการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน และลงทุนนอกธุรกิจพลังงาน อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต พร้อมต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ปรับธุรกิจน้ำมันให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนการดําเนินการจําหน่ายการลงทุนในธุรกิจที่มีมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจถ่านหิน เป็นต้น

ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปตท.ในวันที่ 8 เมษายน 2565 มีวาระอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติม หนังสือบริคณห์สนธิ เพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต รวมทั้งวาระแผนการจัดหาเงินกู้ของ ปตท. ซึ่งหมายรวมถึงวงเงินการกู้ยืม และ/ หรือการก่อหนี้ของบริษัทย่อย เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนให้ ปตท. ภายในวงเงินเทียบเท่า 200,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อใช้คืนหนี้ และการลงทุน

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 ปตท.มีรายได้จากการขาย 2,258,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 จากปีก่อน ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ทำให้ปตท.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ในปี 2564 อยู่ที่ 427,956 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.6 จากปีก่อน และกำไรสุทธิในปี 2564 กลับขึ้นมาแตะ 108,363.41 ล้านบาท โตขึ้นร้อยละ 187 จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 37,765.80 ล้านบาท


ปตท.สผ.เร่งสรุปโครงการยาดานา

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทที่มีผลงานโดดเด่นมากในปี 2564 และปีนี้ก็มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง โดย ปตท.สผ.ตั้งเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2565 อยู่ที่ 467,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 416,141 บาร์เรลต่อวัน

แผนงานหลักในปี 2565 นี้ ปตท.สผ.จะให้ความสำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการในแปลงจี 1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัทจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนแผนงานในต่างประเทศ ปตท.สผ.คาดว่าจะเริ่มการผลิตครั้งแรกในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิเบอร์ ราเคซ รวมทั้งจะเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่างๆ ที่สำรวจพบในประเทศมาเลเซีย และมองโอกาสการเข้าควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติม

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปตท.สผ. กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในปี 2565 มีแนวโน้มผันผวนไปถึงปลายปีนี้จากหลายปัจจัย ส่งราคาน้ำมันดิบในปี 2565 จะอยู่ในระดับสูง ก่อนที่จะปรับตัวลดลงและกลับมาอยู่จุดสมดุลที่ระดับ 70-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปี 2565 ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติยังอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 16 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ขณะที่การผลิตก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณช่วงรอยต่อเดือนเมษายน 2565 ที่ ปตท.สผ.เข้าไปเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะผลิตอยู่ที่ 420-425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่ำกว่าสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กำหนดไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นบริษัทได้เร่งผลิตจากแหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์เข้ามาเสริมได้บางส่วน โดยแหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายใน 2 ปีข้างหน้า

ส่วนกรณีที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ได้มีหนังสือแจ้งการขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการฯ ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นั้น แม้ว่าทาง ปตท.สผ.จะออกมายืนยันว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการโดยคำนึงถึงความมั่นคงพลังงานของไทยและเมียนมา ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าทาง ปตท.สผ.จะเข้าไปถือหุ้นแทนโททาล และกลุ่มเชฟรอนสัดส่วนรวม 59.5% หากมีการถอนการลงทุนในโครงการยาดานา เบื้องต้นน่าจะมีความชัดเจนในต้นมีนาคมนี้

ปตท.สผ.แจงผลประกอบการในปี 2564 ว่ามีรายได้รวม 234,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากปี 2563 มาจากการเข้าร่วมทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 และการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย แปลงเอช ช่วยเพิ่มปริมาณขายปิโตรเลียมปี 2564 มาอยู่ที่ 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อน ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2654 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีกำไรสุทธิในปี 2564 อยู่ที่ 38,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 จากปี 2563


PTTGC คาดปีนี้โตต่อเนื่อง

ส่วนบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC แม้ว่าปีนี้จะมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน โรงโอเลฟินส์ ทำให้กำลังการผลิตในปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน และทิศทางราคาปิโตรเคมียังดีอยู่เว้นผลิตภัณฑ์สายอะโรเมติกส์ทั้งพาราไซลีน และเบนซีนที่ถูกกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ แต่บริษัทรับรู้รายได้จาก Allnex เต็มปีประมาณ 2,000 ล้านยูโร หรือราว 74,162 ล้านบาท ทำให้ปีนี้ PTTGC มีผลการดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงานในปี 2564 PTTGC มีรายได้จากการขายรวม 465,128 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกำไรจากสต๊อกน้ำมันและการปรับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายการพิเศษอื่นๆ) ที่ 55,186 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 93 จากปีก่อนหน้า ทำให้ในปี 2564 มีกำไรสุทธิรวม 44,982 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 200 จากปี 2563

TOP ชี้ปี 65 รับรู้รายได้ CAP เต็มปี

ด้านบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ได้ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ โดยเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) บริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ของอินโดนีเซียเมื่อปี 2564 ทำให้ปี 2565 บริษัทจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น CAP เต็มปี รวมทั้งทิศทางราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่โตขึ้น ทำให้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้น ผลการดำเนินงานของไทยออยล์ในปี 2565 จะโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้จากการขาย 335,827ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92,987 ล้านบาท มาจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น และส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 15,063ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 7,399 ล้านบาท ส่งผลให้ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 12,578.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 3,301.40 ล้านบาท

นอกจากนี้ ไทยออยล์ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,751.20 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนปัจจุบันจำนวน 20,400.28 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 23,151.48 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 275.120 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering:PO) โดยเงินที่ได้จากขายหุ้นเพิ่มทุนนี้จะมาชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่กู้ยืมจากปตท.และธนาคารพาณิชย์ที่ใช้ลงทุนซื้อหุ้นใน CAP ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลง ขณะเดียวกันก็ขายหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ที่ถืออยู่ออกไป 10.78% ให้ ปตท. และ/หรือ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งมีปตท.ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 100 ในราคารวม 22,351 ล้านบาท คาดว่าจะปิดดีลในเดือนเมษายนนี้

ส่งผลให้ ปตท. และ SMH ถือหุ้นใน GPSC เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.45 เป็นร้อยละ 55.23 ขณะที่ไทยออยล์ลดสัดส่วนการถือหุ้น GPSC จากร้อยละ 20.78 เหลือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การเข้าซื้อหุ้น GPSC ของปตท.ในครั้งนี้สอดรับกลยุทธ์ ปตท.ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าผ่านบริษัท Flagship ของ ปตท. โดยที่อำนาจการควบคุมกิจการของปตท.ใน GPSC จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด


หวั่นราคาก๊าซฯ พุ่งฉุดกำไร GPSC หด

สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) (GPSC) ในปี 2564 พบว่าเป็นเพียงบริษัทมหาชนเพียงรายเดียวในกลุ่ม ปตท.ที่มีผลกำไรสุทธิลดลง 3% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 7,319 ล้านบาทเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายจากการหยุดซ่อมแซมโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 และราคาก๊าซฯ และถ่านหินปรับสูงขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ลดลง แม้ปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำรวมจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปี 2564 GPSC มีรายได้รวม 74,874 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8%

ทำให้เกิดความกังวลว่าราคาก๊าซฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นช่วงนี้จะกดดันกำไรขั้นต้นของไฟฟ้า SPP ที่ขายให้ลูกค้าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะกดดันกำไรขั้นต้นของ GPSC อย่างไรก็ตาม
การขายโรงไฟฟ้าอิจิโนเซกิ ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 20.8 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทรับรู้กำไรจากการขายโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยเงินที่ได้จะนำไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะปิดดีลในไตรมาส 1 นี้

IRPC-OR คาดรายได้ปี 65 ขยายตัว

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) (IRPC) ในปี 2564 มีผลการดำเนินงานโดดเด่นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 69.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้มีรายได้จากการขายโตขึ้น 54% อยู่ที่ 235,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากปีก่อน และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) 13.12 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 52% เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 14,504.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 6,151.70 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2565 คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากแนวโน้มโควิด-19 คลี่คลายและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก ส่วนปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันดิบในปีนี้คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 6.6 ล้านบาร์เรลต่อวันอยู่ที่ระดับ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นบริษัทคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้จะใกล้เคียงราคาเฉลี่ยปีที่แล้วที่ 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วน
ปิโตรเคมีในปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น 3-4% ไปในทิศทางเดียวกับอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดก็ตาม


ด้านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เป็นบริษัทที่ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันได้เร็วเหมือนคู่แข่งค่ายน้ำมันอื่นๆ ได้ ทำให้ค่าการตลาดน้ำมันแคบลง แต่เนื่องจาก OR มีธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-oil) เข้ามาเสริม

ในปี 2564 บริษัทมีกําไรสุทธิ 11,474.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.5% โดยมีรายได้ขาย 511,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงินและภาษี (EBITDA ) 20,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น15.4% ภาพรวมผลการดําเนินงานกลุ่มธุรกิจ Mobility ดีขึ้น แม้ว่าปริมาณการจําหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะปรับลดลง 5.1% ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-oil ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวดที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศไทยในบางช่วงของปี 2564

ดังนั้น ในปี 2564 กลุ่ม ปตท.มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 742,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.37 จากปีก่อนที่มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 396,327 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 238,085 ล้านบาท โตขึ้นร้อยละ 252.84 จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิรวม 67,476 ล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท.ในปี 2565 คาดว่ารายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีนี้กลุ่ม ปตท.ได้มีการปรับองค์กรภายใน ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งการขยายธุรกิจสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศมากขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลุ่ม ปตท.มีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น