บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ เตรียมพร้อมสปินออฟ (spin off) "เอสซีจี เคมิคอลส์" (SCGC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อจาก บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าในตลาดหุ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563
จะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่นักลงทุนเฝ้าคอย เนื่องจากเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมตั้งแต่ปิโตรเคมีขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย และยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้และผลกำไรมากที่สุดให้ SCC เมื่อเทียบกับธุรกิจหลักอื่นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หรือธุรกิจแพกเกจจิ้ง โดยในปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 238,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% จากปีก่อน และมีกำไร 28,931 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน โดยมีสัดส่วนรายได้และกำไรคิดเป็นร้อยละ 45 และ 61 ของ SCC บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับมาโดดเด่นอีกครั้งหลังจากซบเซาในช่วงหลายปีก่อน
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 คณะกรรมการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยได้อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกินร้อยละ 25.2 ของทุนชำระแล้วของเอสซีจี เคมิคอลส์
โดยเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จากหุ้นละ 100 บาทเป็นหุ้นละ 10 บาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 38,546.85 ล้านบาท จากเดิม 114,453.15 ล้านบาทเป็น 153,000 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขาย IPO จำนวน 3,854.68 ล้านหุ้น คาดว่าจะจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ (Pre–emptive Right) ไม่เกินร้อยละ 15 ของหุ้น IPO ทั้งหมด ภายหลังการขาย IPO ทาง SCC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยเช่นเดิม
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ เตรียมพร้อมที่จะนำเอสซีจี เคมิคอลส์เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเพื่อมาใช้ในขยายธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) และรองรับโอกาสในอนาคตทั้งการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์มีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งเวียดนามจะเป็นฐานการผลิตโตรเคมีขนาดใหญ่รองจากประเทศไทย ซึ่งเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงเพราะเป็นประเทศนำเข้าสุทธิในสินค้าเม็ดพลาสติก เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ดังนั้น การปักหมุดการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเวียดนามจึงมีเป้าหมายเพื่อสนองความต้องการตลาดภายในประเทศเวียดนามเป็นสำคัญ
ดังนั้น งบลงทุนแต่ละปีของ SCC ที่ตั้งไว้หลายหมื่นล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จัดสรรงบให้เอสซีจี เคมิคอลส์เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาโครงการ Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในประเทศเวียดนามที่กลุ่ม SCC ถือหุ้นทั้งหมด 100% ขณะนี้โครงการดังกล่าวเดินหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 91% คาดว่าช่วงครึ่งแรกปี 2566 จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้
โครงสร้างพื้นฐานพร้อมขยายโครงการ LSP เฟส 2
โครงการ LSP ตั้งอยู่ที่เมือง Ba Ria-Vung Tau ทางตอนใต้ห่างจากนครโฮจิมินห์เพียง 100 กิโลเมตร ถือเป็นโครงการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทที่ใช้ทั้งเวลา กำลังทรัพย์ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมทั้งหาพันธมิตรร่วมทุน แม้ว่าสุดท้ายพันธมิตรต่างชาติต่างพากันถอนตัวมาจากหลายๆ ปัจจัยก็ตาม แต่กลุ่ม SCC ไม่ยอมถอดใจ เพราะมีความเชื่อมั่นในโครงการดังกล่าวว่าไปได้แน่ จึงตัดสินใจฮึดลงทุนเพียงลำพังโดยมีสถาบันการเงินไทยและญี่ปุ่น 6 แห่งให้การสนับสนุนด้วยวงเงินกู้ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 110,000 ล้านบาทเมื่อปี 2561 เพื่อเดินหน้าโครงการ LSP ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 5,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการลงทุนที่สูงกว่าครั้งแรกที่ได้รับการอนุมัติเมื่อปี 2551 ที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ โครงการ LSP มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ 1.6 ล้านตันต่อปี สำหรับผลิตเม็ดพลาสติกชนิด HDPE LLDPE และ PP โดยโครงการมีการดำเนินงานอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก เมื่อโครงการแล้วเสร็จ กำลังผลิตดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศเวียดนามที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในระดับสูง เพราะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนต่อเนื่องยิ่งเกิดสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ ทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทเตรียมศึกษาแผนการขยายโครงการ LSP เฟส 2 เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขยายโรงงานอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการสินค้าปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สูงอีกด้วย ( FDI) โดยการลงทุน LSP เฟส 2 นั้น บริษัทจะเน้นการลงทุนธุรกิจคาร์บอนต่ำ และสอดรับเทรนด์ตลาดในอนาคต เบื้องต้นเงินลงทุนจะไม่สูงเหมือนเฟสแรก เพราะได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภครองรับการขยายงานไว้แล้ว จึงไม่ใช่เป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมด (Greenfield)
ขณะเดียวกัน เอสซีจี เคมิคอลส์ รักษาสัดส่วนการผู้ถือหุ้น 30.57% ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจรรายเดียวในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วยประชากรมากถึง 270 ล้านคน และมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ์ใน CAP เป็นเงิน 434 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,260 ล้านบาท โดยซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นเงิน 327 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) โดยเอสซีจี เคมิคอลส์ จะลงทุนเพิ่มอีก 107 ล้านเหรียญสหรัฐหลังจาก CAP อนุมัติการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในโครงการ CAP2 ที่คาดว่าจะอนุมัติภายในปี 2565 ซึ่งล่าสุดบริษัทไทยออยล์จำกัด (มหาชน) (TOP) ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ใน CAP ที่สัดส่วนการถือหุ้น 15.38% โดย TOP จะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของโครงการ CAP2 ในด้านวัตถุดิบ
ส่วนการลงทุนในประเทศไทยช่วง 1 ปีที่ผ่านมานั้น แม้ว่าจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เหมือนเวียดนามและอินโดนีเซียเพราะบริษัทได้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในไทยไปก่อนหน้านี้อย่างโครงการขยายกําลังการผลิตมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) มีกำลังผลิตโอเลฟินส์เพิ่มอีก 350,000 ตัน/ปี มูลค่าการลงทุน 15,500 ล้านบาทที่ผลิตเชิงพาณิชย์ไปเมื่อกลางปีที่แล้ว แต่ก็มีการลงทุนใหม่อยู่ เช่น การซื้อหุ้นบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด (BST) จำนวน 5.37% คิดเป็นมูลค่า 1,651 ล้านบาทจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) ส่งผลให้ถือหุ้นใน BST เพิ่มขึ้นเป็น 54.20% เมื่อช่วงไตรมาส 3/2564
BST เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่ม MixedC-4 ที่ใช้ผลิตยางสังเคราะห์เพื่อทำถุงมือยางทางการแพทย์และยางรถยนต์ประหยัดพลังงานสอดรับเมกะเทรนด์
รวมทั้งได้ก่อสร้างโรงงานสาธิตสำหรับการรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) มีกำลังการผลิต 4 พันตัน/ปี โดยโรงงานดังกล่าวเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น เพื่อนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ของบริษัท ล่าสุดได้จับมือ TOYO Engineering Corporation ผู้นำด้านวิศวกรรมระดับสากล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิต ภายใต้เทคโนโลยี Advanced Recycling ซึ่งเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วให้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Recycled Feedstock) เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่โดยคงคุณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อแก้ปัญหาขยะพลาสติก
ดังนั้น เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงเป็นบริษัทไทยที่มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งใน 3 ประเทศที่ครอบคลุมกว่า 2 ใน 3 ของ GDP และประชากรในภูมิภาคอาเซียน สะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้
SCC ตั้งเป้าโต 10% ในปี 65
นายรุ่งโรจน์กล่าวถึงแผนการดำเนินงาน SCC ในปี 2565 ว่าบริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อนที่มีรายได้การขายรวม 530,112 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งบริษัทรับรู้รายได้จากการถือหุ้นเพิ่มในบริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ และโครงการต่างๆ จากการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ บริษัทกำหนดงบลงทุนในปี 2565 อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ประเทศเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 40 ของงบลงทุน ส่วนงบลงทุนที่เหลือจะใช้ในส่วนของการขยายกำลังการผลิต และ M&A
ที่ผ่านมาบริษัทได้เร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้รักษาการเติบโตของบริษัทในปี 2564 เป็นที่น่าพอใจ โดยปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับ 3 เมกะเทรนด์ ได้แก่ ชู ESG (Environmental, Social and Governance) ในการดำเนินธุรกิจ, ใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า, พัฒนานวัตกรรมโซลูชันรับเทรนด์การรักษ์สุขภาพและยกระดับคุณภาพชีวิต โดย SCC เตรียมเงินลงทุนเบื้องต้น 70,000 ล้านบาทภายในปี 2573 เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งบริษัทกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 (Net Zero 2050)
บริษัทได้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) แทนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ โดยตั้งเป้าลดการใช้ถ่านหินลงเหลือ 50% ในปี 2565 จากปัจจุบันใช้ถ่านหินอยู่ 70% รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI ) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อนำคาร์บอนมาใช้ประโยชน์
ขณะเดียวกัน บริษัทมุ่งพัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจาก 32% เป็น 67% ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งจัดตั้งบริษัท SCG Cleanergy เพื่อให้บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายมีพลังงานหมุนเวียน 500 เมกะวัตต์ในปี 2566 รวมทั้งพัฒนา Green Polymer นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ของ SCGP ทั้งหมดสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2593
ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2565 มีปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทั้งพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนการเงินก็เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ความต้องการสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรับมืออัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้ทันท่วงที