xs
xsm
sm
md
lg

MINT โกยกำไร 1.7 พันล้านไตรมาส 4/64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (“MINT”) โชว์ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่แข็งแกร่ง ตอกย้ำถึงการดำเนินงานที่ฟื้นตัว คว้ากำไร 1.7 พันล้านบาท จากเดิมช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดทุน 4.3 พันล้านบาท เป็นครั้งแรกที่มีกำไรตั้งแต่เกิดโควิด-19

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“MINT”) รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 4 ปี 2564 โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 1.7 พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นการกลับมาสร้างผลกำไรครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 4.3 พันล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2563 และ 2.4 พันล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2564 โดยในไตรมาส 4 ปี 2564 ไมเนอร์ ฟู้ดยังคงสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ในขณะที่กำไรสุทธิของไมเนอร์ โฮเทลส์ และไมเนอร์ ไลฟ์สไตล์พลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกในไตรมาสนี้
 
ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนดังกล่าวเป็นผลมาจากทั้ง 3 หน่วยธุรกิจของ MINT และการฟื้นตัวของความต้องการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายของบริษัท ในขณะเดียวกัน MINT ยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่องและฐานะทางการเงิน และลดอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นผ่านการบริหารจัดการฐานะทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการหมุนเวียนสินทรัพย์และการประเมินราคาที่ดินใหม่ ส่งผลให้ฐานส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น
 
สำหรับปี 2564 บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงอยู่ที่จำนวน 9.3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 19.4 พันล้านบาทในปี 2563 จากความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นและมาตรการการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของบริษัท ทั้งนี้ หากนับรวมรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว MINT รายงานกำไรสุทธิตามงบการเงินเป็นลบอยู่ที่จำนวน 1.6 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจากผลขาดทุนสุทธิจำนวน 5.6 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2563 และในปี 2564 ผลขาดทุนสุทธิตามงบการเงินอยู่ที่จำนวน 13.2 พันล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลขาดทุนสุทธิจำนวน 21.4 พันล้านบาทในปี 2563
 
ในไตรมาส 4 ปี 2564 ไมเนอร์ โฮเทลส์มีผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิพลิกฟื้นกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส อยู่ที่จำนวน 1.2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 4.7 พันล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2563 และ 2.4 พันล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2564 โดยผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนดังกล่าวเป็นผลมาจากแนวโน้มทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในทุกภูมิภาค และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่ง จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ไม่สามารถเดินทางได้เป็นเวลานาน ประกอบกับการเปิดโรงแรมบางแห่งซึ่งถูกปิดเป็นการชั่วคราวในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงแรมในทวีปยุโรปเติบโตขึ้น


ในขณะที่โรงแรมในประเทศมัลดีฟส์ยังคงมีการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4 ปี 2564 โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ในไตรมาส 4 ปี 2562 ถึงร้อยละ 38 จากทั้งอัตราการเข้าพักและราคาค่าห้องพักที่สูงขึ้น ส่วนโรงแรมในประเทศไทยมีผลการดำเนินงานที่เติบโตจากทั้งปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนภายใต้โครงการ “Test & Go” ประกอบกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่เดือนกันยายน ภายหลังการผ่อนคลายข้อจำกัดในด้านการเดินทางระหว่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศออสเตรเลียจะยังคงมีการปิดประเทศและการบังคับใช้ข้อจำกัดในการเดินทางอย่างต่อเนื่องในหลายรัฐในไตรมาส 4 ปี 2564 กลุ่มโรงแรมในประเทศออสเตรเลียยังคงมีการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนในไตรมาส 4 ปี 2564 จากอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยที่สูงขึ้น

ในไตรมาส 4 ปี 2564 ไมเนอร์ ฟู้ดยังคงรายงานผลกำไรจำนวน 290 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากผลกำไรจากทั้ง 3 กลุ่มประเทศหลักของไมเนอร์ ฟู้ดทั้งในไตรมาส 4 ปี 2564 และปี 2564 ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวชะลอตัวลงจากปีก่อน แต่เติบโตขึ้นจากในไตรมาส 3 ปี 2564

ผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนดังกล่าวเป็นผลส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งขาดทุนจากกิจการร่วมค้า โดยเฉพาะเบรดทอล์ค และราคาต้นทุนปลาที่สูงขึ้นในประเทศจีน ส่วนยอดขายต่อร้านเดิมโดยรวมลดลงเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ท้าทายในประเทศจีนและออสเตรเลียท่ามกลางการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ อย่างไรก็ตาม ยอดขายต่อร้านเดิมโดยรวมติดลบในอัตราที่ลดลงจากไตรมาสก่อน จากที่เป็นลบร้อยละ 7.2 ในไตรมาส 3 ปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งยอดขายต่อร้านเดิมของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยกลับเป็นบวกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปี 2565 จากการผ่อนคลายข้อจำกัดในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทย

MINT ยังคงมุ่งรักษาสภาพคล่องและเสริมความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงิน โดยกระแสเงินสดเป็นบวกติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 อยู่ที่จำนวน 3.7 พันล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานและเงินสดรับจากการขายสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 40 ในสินทรัพย์ 5 แห่งในประเทศไทยในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ สถานะสภาพคล่องของ MINT ยังคงแข็งแกร่งด้วยเงินสดในมือจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อจำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมปี 2564

นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของ MINT ยังคงมีเสถียรภาพ ด้วยอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจาก 1.79 เท่า ณ สิ้นปี 2563 เป็น 1.68 เท่าในปี 2564 เนื่องมาจากฐานส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้นจากส่วนเกินทุนจากการประเมินราคาสินทรัพย์ และเงินที่ได้รับจากการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ รวมถึงเงินกู้ยืมที่ลดลง ณ สิ้นปี 2564 อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอยู่ที่ 1.36 เท่า จาก 1.44 เท่า ณ สิ้นปี 2563

เมื่อมองไปยังปี 2565 ธุรกิจของบริษัทได้เห็นถึงแนวโน้มของการฟื้นตัว โดยบริษัทได้ผ่านพ้นช่วงที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว และคาดว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วต่อไปในอนาคตจากความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม โดยอุตสาหกรรมการโรงแรมทั่วโลกคาดว่าจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2565 จากการกระจายวัคซีนทั่วโลก และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศ หลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มมีการผ่อนคลายและยกเลิกข้อจำกัดในการป้องกันการระบาดของโรค COVID-19 โดยจัดให้โรค COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นโรคประจำถิ่น

ในขณะที่ประเทศมัลดีฟส์ยังคงได้รับประโยชน์จากความการเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรการการปิดพรมแดนระหว่างประเทศที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และประเทศไทยได้เปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว สำหรับไมเนอร์ ฟู้ด การผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางและกิจกรรมทางสังคมในประเทศไทยส่งผลให้มีจำนวนลูกค้าร้านอาหารเพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศจีน แบรนด์ริเวอร์ไซด์มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งท่ามกลางช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยมียอดขายที่ฟื้นตัวเกือบจะในทันทีภายหลังจากการยกเลิกมาตรการการปิดประเทศ นอกจากนี้ กลยุทธ์การปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรก่อนหน้านี้ในประเทศออสเตรเลีย ควบคู่ไปกับการยกระดับแบรนด์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลช่วยผลักดันความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น ท้ายสุด มาตรการการลดต้นทุนและการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อคงประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19

นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่า “ด้วยความพยายามในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจของเราในช่วงของการฟื้นตัวภายหลังจากช่วงเวลาที่ท้าทายมาอย่างยาวนาน นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากที่ได้เห็นการฟื้นตัวของธุรกิจที่แข็งแกร่งในทุกหน่วยธุรกิจของเรา ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นกำไรสุทธิที่เป็นบวกในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจจะยังคงท้าทาย แต่บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการสร้างผลกำไรในปี 2565 ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ไม่สามารถเดินทางได้เป็นเวลานาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ ด้วยความพยายามของเราในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานการดำเนินงานของเรา ฐานะทางการเงิน และสภาพคล่อง เราจึงมีรากฐานที่พร้อมสำหรับการเติบโตอย่างมั่นคง มีประสิทธิภาพ และแข็งแกร่งยิ่งขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 สิ้นสุดลง”

ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท: บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) เป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจระดับสากล โดยประกอบ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ MINT ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในรูปแบบเป็นเจ้าของเอง บริหารจัดการ และร่วมลงทุน โดยมีโรงแรมและเซอร์วิส สวีทมากกว่า 520 แห่ง ภายใต้แบรนด์ อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว, เอเลวาน่า, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์, เซนต์ รีจิส, เรดิสัน บลู และโรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ใน 56 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา คาบสมุทรอินเดีย ยุโรป อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ MINT เป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,300 สาขา ใน 24 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, ไทย เอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และรับจ้างผลิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ อเนลโล่, เบิร์กฮอฟฟ์, โบเดิ้ม, บอสสินี่, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, โจเซฟ โจเซฟ, แรทลีย์, สวิลลิ่ง เจ. เอ. เฮ็งเคิลส์ และไมเนอร์ สมาร์ท คิดส์


กำลังโหลดความคิดเห็น