xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยะเลิศ ใบหยก” ผู้ชายหลายมิติ จาก CEO โรงแรมดัง สู่ยูทูบเบอร์ยอดวิวหลักล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชื่อได้ว่าไม่มีใครไม่คุ้นหูนามสกุลของหนุ่มคนนี้ เพราะเป็นนามของตึกที่ได้ขึ้นชื่อสูงที่สุดตึกหนึ่งของประเทศไทย สำหรับ “เบียร์–ปิยะเลิศ ใบหยก” ทายาทคนโตของ พันธ์เลิศ ใบหยก ผู้ก่อตั้งตึกใบหยกอันโด่งดัง หนุ่มเบียร์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารเจนฯ ใหม่ ที่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากมายของครอบครัว รับภาระหนักในการดูแลธุรกิจเม็ดเงินหลักแสนล้าน แต่ในอีกมุมหนึ่งของซีอีโอหนุ่มคนนี้ ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนานและสีสัน กับการโชว์ไลฟ์สไตล์แบบเรียลๆ ให้ผู้คนได้รู้จักตัวตนของเขา ผ่านทางยูทูบช่อง BeerBaiyoke ที่แม้เพิ่งจะทำได้จริงจังเพียงปีกว่าๆ แต่มียอดผู้ชมสูงถึง 30 กว่าล้านวิวแล้ว


ทุกวันนี้ เบียร์สวมหมวกอยู่หลายใบ ทั้งงานหลัก อย่าง การสวมบทหัวเรือใหญ่ที่ดูแลกิจการของครอบครัว กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างชื่อมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า รวมถึงทรัพย์สินอย่างผืนที่ดินในมือที่รอการพัฒนาต่อไปในอนาคต แถมยังมีกิจการส่วนตัว อย่าง ธุรกิจอาหารที่มีนับสิบแบรนด์ ตั้งแต่ซูชิไปยันส้มตำ

“ถ้านับทั้งหมดตั้งแต่เริ่มทำ ผมทำมาเกือบ 60-70 สาขา แต่ก็มีที่ขายออกไปบ้าง อย่าง ร้านเนื้อย่างที่เราไปซื้อแฟรนไชส์มาทำ พอทำแล้วดี ทางญี่ปุ่นมาขอซื้อกลับ ผมเห็นว่ากำไรก็ขาย แล้วมาปั้นร้านใหม่ จนตอนนี้มีร้านอาหารที่ทำอยู่รวมๆ ประมาณ 30 สาขา มีทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านเจ๊แดงสามย่าน ที่เบียร์บอกว่าตามจีบเจ๊แดงอยู่หลายปีกว่าจะสำเร็จ โดยปีหน้ามีแผนจะขยายอีก 30 สาขา


“ผมมาทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะมีแพสชั่นมาจากความชอบกิน โดยเฉพาะ อาหารญี่ปุ่น เพราะไปเรียนที่นั่น บวกกับรู้สึกว่าถ้าย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ผมรู้สึกว่าอาหารญี่ปุ่นในไทยยังไม่ใช่รสชาติแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ซึ่งผมเองก็ไม่ถนัดสายฟิวชั่น เลยอยากนำร้านอาหารที่คนญี่ปุ่นชอบกินมาเปิดในไทย ก็ทำมาเรื่อยๆ จนมาถึงเจ๊แดงสามย่าน

คือผมรู้จักป้าแดงมา 20 ปี ตั้งแต่สมัยเรียนจุฬาฯ ชอบรสมือตั้งแต่ยังไม่ได้มิชลินไกด์ ซึ่งผมเองอยากทำร้านส้มตำ คอหมูย่างอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะหาแบรนด์อะไร จะทำเองเราก็ไม่ถนัดเข้าครัว จะหาผู้เชี่ยวชาญ เชฟคนเดียวที่รู้จักก็คือป้าแดง เลยชวนมาทำด้วยกัน ซึ่งผมจีบนานมากนะ จีบมาเป็นสิบปีละ นานและยากกว่าจีบภรรยาอีก (หัวเราะ)”


ส่วนเหตุผลที่เริ่มต้นธุรกิจมาคนเดียว จนมั่นใจถึงมีพาร์ตเนอร์ เบียร์บอกว่า เพราะถ้าไม่มั่นใจก็ไม่กล้าให้ใครมาลงขัน “จริงๆ มีคนอยากมาหุ้นกับผมเยอะ แต่ผมเองที่มองว่าต้องมั่นใจก่อนว่าธุรกิจไปได้ ไม่เจ๊ง เพราะผมไม่อยากให้พาร์ตเนอร์ต้องมาขาดทุนหรือเจ๊งไปกับผม เพราะฉะนั้นถ้าไม่มั่นใจ ไม่ชวนครับ”

นอกจากบทบาทซีอีโอ หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาเบียร์ ในฐานะยูทูบเบอร์ ซึ่งเบียร์เพิ่งเริ่มต้นตอนที่เกิดโควิด-19 นี่เอง

“พอต้องทำงานที่บ้าน เลยไม่ยุ่งเท่าปกติ บวกกับผมเองอยากเก็บความทรงจำอะไรบางอย่าง เช่น เวลาไปเที่ยวกับเพื่อน อยู่กับลูก แฟนบุ๋มเลยจุดประกายว่า ทำไมไม่ทำช่องยูทูบของตัวเองเลย ตอนแรกผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีใครสนใจมาดู เลยลองโพสต์ถามในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ถ้าผมทำยูทูบเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์จะมีคนดูมั้ย ปรากฏว่ามีคนมาตอบเกือบพัน เลยมั่นใจและเริ่มทำ ซึ่งผมก็สนุก ไม่ได้รู้สึกยากหรือว่าฝืนอะไร เพราะคลิปผมไม่ได้มีสคริปต์อยู่แล้ว หรือต่อให้ตอนนี้เวลามีลูกค้าเข้า อาจจะต้องมีสคริปต์บ้าง ถามว่ายากมั้ยก็ยากกว่าปกติ แต่ผมมองว่าไม่ใช่ปัญหาเราฝึกได้ ไม่มีอะไรเกินความสามารถ”


สำหรับเบียร์การทำยูทูบยังเป็นแค่งานอดิเรก เพราะถ้าเป็นรายได้หลัก ต้องเน้นกว่านี้ มีทีมงานมากขึ้น

“คนอื่นทำยูทูบอาจจะได้เงินเยอะ แต่ผมอาจจะต่าง เพราะบางครั้งผมก็เน้นสร้างความสนุกให้กับคลิป บางครั้งก็อาจจะเลือกใช้เพลงที่ติดลิขสิทธิ์บ้าง (ซึ่งคลิปนั้นจะไม่สามารถสร้างรายได้จากยอดวิวได้) แต่ผมไม่ได้สนใจ อยากให้คนดูสนุก มีความสุข อินไปด้วย ส่วนเงินจากสปอนเซอร์ที่เข้ามา ผมก็เอามาแบ่งให้ทีม ถือว่าเป็นการสร้างงานให้น้องๆ ไปในตัว

มาถึงวันนี้ ถ้าถามว่าตอนนี้ชอบดูช่องไหนมากที่สุดคือ ช่องตัวเอง คือช่องอื่นก็ดูนะแต่ที่ดูชอบช่องตัวเอง เพราะคิดถึงเพื่อน คิดถึงลูกตอนเด็ก คิดถึงช่วงเวลาตอนนี้ที่เราทำงานกับลูกน้อง กลับไปดูได้ เป็นความทรงจำ อย่างวันนี้ที่สัมภาษณ์ มีหลายเรื่องที่นึกถึงแต่มันอยู่แค่ในความทรงจำ ไม่ได้มีการบันทึกไว้”


อย่างไรก็ตาม แม้การทำยูทูบ จะเหมือนการพาตัวเองมาอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ แต่เบียร์บอกว่า โชคดีที่ตอนนี้คอมเมนต์ส่วนใหญ่ยังมาทางบวก แต่สิ่งที่ต้องระวังมากขึ้นคือ บางครั้งคนรู้จัก จำรถได้ ถ้าไปขับรถเปลี่ยนเลนช่องทึบ บางทีพูดจาอาจจะมีคำหยาบกับเพื่อน ก็อาจจะต้องระวัง เพราะบางคนอาจจะมองเราเป็นตัวอย่าง ซึ่งเราก็แค่ระวังมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับต้องฝืนตัวเอง

สำหรับเรื่องธุรกิจในอนาคต เบียร์เผยว่า “เราโชคดีที่ธุรกิจที่บ้าน ไม่มีเงินกู้ ก็ไปต่อได้เรื่อยๆ เราไม่เก็บเงินในรูปเงินสด เราจะเก็บในรูปอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด อย่าง โปรเจกต์โรงแรมที่กำลังจะเปิดใหม่ก็เช่นกัน หลายคนอาจจะบอกว่าสถานการณ์โควิด-19 กำลังจะดีขึ้น ผมก็คิดบวกว่าน่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ชัวร์ ผมคิดว่าโควิด-19 คงอยู่กับเราไปตลอด อาจเบาลง หรืออาจมีโรคใหม่ที่น่ากลัวกว่า มันจะเป็นสิ่งที่อยู่กับลูกหลานเราแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมจึงเห็นด้วยกับพ่อที่สร้างโรงแรม เพราะสุดท้าย ชีวิตก็ต้องไปต่อ แต่มันก็ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะ ธุรกิจอย่างเราที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการ”


เพราะมีตัวอักษรต่อท้ายชื่อว่า “ใบหยก” ทำให้เบียร์หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับสารพัดคำพูดคน และการวิพากษ์วิจารณ์ที่หลายคนมองว่า การที่เขาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ก็เพราะนามสกุล เพราะเป็นลูกคนรวย

“ปีนี้ผมก็อายุ 40 ปีแล้ว ได้ยินมาตลอด มันก็ชินแล้วครับ สมัยเด็กๆ อาจจะได้ยินบ่อยหน่อย เรื่องว่าเราได้ดีเพราะพ่อรวย แต่สิ่งที่ผมคิดคือ เราไม่ได้ดำเนินชีวิตโดยมีคำว่าใบหยกแล้วพิเศษกว่าคนอื่น ผมพยายามแสดงให้เห็นว่าเราเองก็มีความสามารถ ผมนับถือคนที่สร้างธุรกิจจากศูนย์นะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การรักษาไว้ไม่ทำให้ด้อยลงหรือพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีก มันก็ยากไม่แพ้กัน

ทุกนาทีของผมรวมทั้งน้องๆ เจนฯ ใหม่ของครอบครัว ก็ช่วยกันทำอยู่ พยายามระดมสมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อต่อยอดธุรกิจ อย่าง ตัวตึกที่มีอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้คนเข้ามา ดึงดูดคนในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราแล้ว ลูกค้ากลุ่มใหม่ เจนเนอเรชันใหม่ๆ เป็นสิ่งที่เราต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้น การเป็นทายาทใบหยกสำหรับผมไม่ได้เป็นเรื่องเครียด หรือกดดัน แต่เป็นสิ่งที่ทั้งท้าทายและสนุกครับ”










กำลังโหลดความคิดเห็น