การบินไทยโชว์กำไรสุทธิปี 64 จำนวน 55,113 ล้านบาท เผย มี.ค. 65 ลงนามสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน ลดภาระภาครัฐ สร้างรายได้เพิ่ม “ปิยสวัสดิ์” มั่นใจออกจากแผนฟื้นฟูเร็วกว่า5 ปี
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยได้ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาท หรือ 51% สืบเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%) และรายได้จากบริการอื่นๆ ลดลง 1,545 ล้านบาท แต่มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,460 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รายได้ที่เกิดจากข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกับการชำรุดของเครื่องยนต์ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,449 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 40,396 ล้านบาท (48.2%) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่ลดลง ตลอดจนการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกิจการและปฏิรูปธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการที่ไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ
โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้จำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เป็นต้น ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศเมื่อปลายปี 2564 และรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จึงส่งผลให้บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยรวมต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 311 คน/วัน ในเดือนตุลาคมเป็น 1,067 คน และ 2,559 คน/วัน ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2564 ตามลำดับ ขณะเดียวกัน มาตรการผ่อนคลายในประเทศก็ทำให้จำนวนผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศของสายการบินไทยสมายล์เพิ่มขึ้นมากจาก 2,623 คน/วัน ในเดือนกันยายน 2564 เป็น 9,536 คน/วัน ในเดือนธันวาคม 2564 แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้โดยสารของการบินไทยและไทยสมายล์รวมกันก็อยู่ระดับเพียงร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาที่บริษัทฯ สามารถให้บริการตามปกติ
แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมฯ โดยการยกเลิกมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ทำให้จำนวนผู้โดยสารต่อวันของบริษัทฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2565 ลดลงกว่าร้อยละ 20 จากในเดือนธันวาคม 2564
อย่างไรก็ดี การที่ภาครัฐนำมาตรการ Test and Go มาใช้อีกครั้งหนึ่ง และประเทศปลายทาง เช่น เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง นับเป็นสัญญาณดีที่ทำให้ความต้องการเดินทางเริ่มกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง บริษัทฯ จึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางต่างๆ เช่น ลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต โคเปนเฮเกน ซูริก สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และเปิดให้บริการสู่จุดหมายปลายทางใหม่เพิ่มเติม อาทิ เมลเบิร์นในประเทศออสเตรเลีย และจุดหมายปลายทางในประเทศอินเดีย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้เป็นต้นไป
ในขณะที่ผู้โดยสารในประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,600 คน/วัน เดือนกันยายน 2564 เป็น 9,000 คน/วัน ในเดือนธันวาคม 2564 สายการบินไทยสมายล์จึงได้เปิดให้บริการในเส้นทางร้อยเอ็ดและตรังจากสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเปิดให้บริการจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
“รายได้หลักตอนนี้ มาจากคาร์โก้ 80% ซึ่งมีการเติบโต ต่อเนื่อง สร้างรายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่เกิดโควิด หรือเกือบร้อยละ 50 ของรายได้รวมของบริษัทฯ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ส่วนผู้โดยสารสัดส่วนรายได้ 20% เพราะการขนส่งผู้โดยสารมีข้อจำกัดปัจจัยจากมาตรการในการควบคุมการเดินทางของรัฐ และการเปิดประเทศในแต่ละประเทศ ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการ Test and Go และประเทศออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศกำลังเปิดการเดินทางเข้า คาดว่าไตรมาส 2 ปี 65 มีแนวโน้มในด้านผู้โดยสาร” นายปิยสวัสดิ์กล่าว
@ลงนามสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านใน มี.ค.นี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าวงเงินสินเชื่อจากธนาคารจะเพียงพอ เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทฯ จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป
"แนวโน้มขณะนี้เชื่อว่าผ่านจุดต่ำสุดในปี 64 แล้ว หลังจากนี้จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟู สามารถลดค่าใช้จ่ายปรับโครงสร้างทุน ให้ส่วนของผู้ถือหุ้นจากติดลบให้กลับมาเป็นบวก และคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนด 5 ปี" นายปิยสวัสดิก์ล่าว
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารออมสิน โดยได้มอบหมายให้ธนาคารกรุงเทพเป็น Lead Underwriter
โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์รวมถึงอาคารสำนักงานใหญ่ และเครื่องบินที่เป็นของบริษัท และเครื่องบินที่รอขาย พร้อมเครื่องยนต์และอะไหล่ รวมจำนวน 45 ลำ
โดยเจ้าหนี้ใหม่ทั้ง 5 รายก็เป็นเจ้าหนี้เก่าของการบินไทยด้วย ซึ่งสามารถแปลงหนี้เป็นทุนได้ ซึ่งขึ้นกับเจ้าหนี้แต่ละราย สำหรับสัดส่วนของคลังที่ยืนยันถือหุ้นอย่างน้อย 40% นั้น ต้องดูว่า ก.คลัง ออมสิน กรุงไทย และวายุภักษ์ ซึ่งออมสินและกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้เก่าและใหม่ จะมีการแก้ไขอย่างไรเพื่อให้คงสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐอย่างน้อย 40% หลังจากบริษัทมีการจัดหาสินเชื่อใหม่
สำหรับเงินกู้ 25,000 ล้านบาท จะนำมาใช้ในการบริหารงานในปี 2565 เช่น จ่ายชดเชยพนักงานที่ลาออกกว่า 4,000 ล้านบาท จ่ายคืนค่าตั๋วที่ไม่ได้ทำการบินประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งการวางค้ำประกัน เป็นเครดิตไลน์จัดซื้อน้ำมันอากาศยาน
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย กล่าวว่า สถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการบินไทย เนื่องจากไม่มีการบินผ่านน่านฟ้ายูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 ส่วนเส้นทางไทย-รัสเซียไม่มีผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินเหมาลำ ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อทั่วโลก และกระทบต่อต้นทุนอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ ซึ่งการบินไทยมีปัญหาเรื่องเครดิตไลน์ในการจัดซื้อ ดังนั้นการขอสินเชื่อเพื่อมาช่วยบริหารจัการในเรื่องนี้ด้วย
การเปิดประเทศของหลายประเทศเกือบเป็นปกติ โดยไม่มีการกักตัว แนวโน้มการเดินทางดีขึ้น คาดการณ์ว่า ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ทั้งปี 65 จะเพิ่มจากปีก่อนประมาณ 50%
ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานรวม 14,000 คน (การบินไทยไทยสมายล์ เอาต์ซอร์ส) ลดจากเดิมที่มี เกือบ 30,000 คน
มีฝูงบินให้บริการจำนวน 58 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777 จำนวน 14 ลำ โบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ แอร์บัส 350 จำนวน 12 ลำ แอร์บัส 320 จำนวน 20 ลำ โบอิ้ง 777-200 ER จำนวน 4 ลำ และในเดือน มี.ค.-เม.ย. 65 จะรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 777-300 ER จำนวน 3 ลำ ทำให้มีฝูงบินให้บริการรวมเป็น 61 ลำ ขณะที่มีเครื่องบินจอดรอการขายจำนวน 26 ลำ เครื่องบินคืนผู้ให้เช่าอีก 16 ลำ
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 161,219 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 48,078 ล้านบาท (23%) หนี้สินรวม 232,470 ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 105,492 ล้านบาท (31.2%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ติดลบจำนวน 71,251 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 จำนวน 57,414 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ