xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ ดันดิจิทัลวิลเลจ ตั้งเป้าปีนี้ตามหาอีก 20 ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดัน “ดิจิทัล วิลเลจ” แก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ชุมชน ตาม “เถาเป่า โมเดล” ได้แล้ว 34 ชุมชนทั่วประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ตั้งเป้าปี 65 ผลักดันอีก 20 ชุมชน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามผลการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ หรือ Digital Village by DBD ตั้งแต่ปี 2562-64 โดยใช้ต้นแบบหมู่บ้านเถาเป่า หรือเถาเป่าโมเดลของจีน ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชนด้วยการผลักดันเข้าสู่การค้าออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสามารถผลักดันให้เกิดชุมชนต้นแบบได้แล้วรวม 34 ชุมชนทั่วประเทศ แยกเป็นปี 2562 จำนวน 5 ชุมชน ปี 2563 จำนวน 15 ชุมชน และปี 2564 จำนวน 14 ชุมชน ซึ่งสามารถช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้จริง เพราะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ยอย่างน้อย 10% ต่อปี และเพิ่มรายได้ตั้งแต่หลักหมื่น แสน และมากกว่า 5 แสนบาทต่อเดือน

สำหรับปี 2565 กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการร่วมมือกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ทำการสำรวจศักยภาพชุมชน โดยมีเป้าหมายในปีนี้จำนวน 20 ชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 200 ชุมชนทั่วประเทศ โดยเมื่อได้รายชื่อแล้ว กรมฯ จะเข้าไปช่วยฝึกอบรมและพัฒนาให้คนในชุมชนมีองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจออนไลน์ การพัฒนาสินค้า การทำคอนเทนต์ การถ่ายภาพออนไลน์ การทำแพกเกจจิ้ง ตลอดจนการเล่าเรื่องราวให้สินค้าและบริการ และจะช่วยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบอินโฟกราฟิกและการผลิตหนังสั้น (ไวรัลคลิป) เพื่อสื่อสารอัตลักษณ์เด่นและเรื่องเล่าของแต่ละชุมชน

นอกจากนี้ จะช่วยเชื่อมโยงกิจกรรมการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่สินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์โดยการนำไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยม เช่น Shopee และ Lazada และผ่านช่องทางออนไลน์อื่น เช่น เฟซบุ๊ก รวมถึงช่องทางออฟไลน์อื่นๆ โดยมีผลการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จ เช่น การจัดทำแคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” (www.shopee.co.th/dbdonline) ซึ่งรวมสินค้าจากชุมชนต้นแบบ (ของดีออนไลน์ by DBD) สรุปยอดจำหน่ายตั้งแต่ มี.ค. 2563-ส.ค. 2564 รวม 5,673,947 บาท

ทั้งนี้ ชุมชนที่ได้รับการผลักดันให้เป็นชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ปี 2562 ได้แก่ 1. ชุมชนนาข่า จ.อุดรธานี ผ้าไหม ผ้าพื้นเมือง 2. ชุมชนใบชาดอยแม่สลอง จ.เชียงราย สินค้าใบชา 3. ชุมชนด่านเกวียน จ.นครราชสีมา เครื่องปั้นดินเผา 4. ชุมชนบ้านวังส้มซ่า จ.พิษณุโลก ผลิตภัณฑ์จากส้มซ่า 5. ชุมชนควนขนุน จ.พัทลุง หัตถกรรมกระจูด

ปี 2563 จำนวน 15 ชุมชน ได้แก่ 1. ชุมชนสรรพยา จ.ชัยนาท ส้มโอขาวแตงกวา 2. ชุมชนเกาะคา จ.ลำปาง ข้าวแต๋น เซรามิก 3. ชุมชนเมืองพะเยา จ.พะเยา จักสานผักตบชวา 4. ชุมชนปัว จ.น่าน เครื่องเงินชาวเขา 5. ชุมชนส่องดาว จ.สกลนคร ผ้าย้อมคราม 6. ชุมชนปักธงชัย จ.นครราชสีมา ผ้าไหมมัดหมี่โคราช 7. ชุมชนบางสระเก้า จ.จันทบุรี กกจันทบูร 8.ช ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ท่องเที่ยว 9.ชุมชนละงู จ.สตูล อาหารทะเลแปรรูป 10.ชุมชนเมืองตรัง จ.ตรัง จักสานใบจาก 11. ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ จ.พังงา ท่องเที่ยว 12. ชุมชนดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี มะพร้าว 13. ชุมชนบ้านดอนทอง จ.นครปฐม กล้วยแปรรูป 14. ชุมชนมิตรสัมพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตภัณฑ์เกษตร ผลไม้แช่อิ่ม และ 15. ชุมชนคลองตาปรั่ง จ.สมุทรสาคร มะพร้าว

ปี 2564 จำนวน 14 ชุมชน ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชน รังไหมประดิษฐ์ จ.สระบุรี 2. สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด (KUBeef) จ.นครปฐม 3. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทิวลิป ชุมชนเนินพยอม จ.ระยอง 4. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ จ.จันทบุรี 5. วิสาหกิจชุมชนอาชีพ เกลือทะเลกังหันทอง จ.เพชรบุรี 6.วิสาหกิจชุมชนแปรรูป สมุนไพรปลูกรัก จ.ตาก 7. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปแมคคาแดเมีย เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 8. วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน 9. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ 10.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรอำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 11. วิสาหกิจชุมชนภูเชียงทา จ.ชัยภูมิ 12. บริษัท เด็กพิเศษวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จ.พังงา 13. วิสาหกิจชุมชนไชโยฟาร์มเห็ด จ.สุราษฎร์ธานี และ 14. วิสาหกิจชุมชนตาลโตนด โหนด นา เล จ.สงขลา


กำลังโหลดความคิดเห็น