นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2565 ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยจะลงพื้นที่แหล่งผลิต เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตรวจสอบสินค้าที่มีโอกาสในการขึ้นทะเบียน GI มีเป้าหมายจำนวน 20 รายการ เช่น ทุเรียนทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี ข้าวหอมไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ลำไยจันท์ จ.จันทบุรี ผลิตภัณฑ์กระจูดเมืองแกลง จ.ระยอง ผ้าอุทัยธานี จ.อุทัยธานี หินอ่อนพรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร พริกกะเหรี่ยงท่าสองยาง ทุเรียนน้ำแร่พบพระ จ.ตาก โคขุนดอกคำใต้ จ.พะเยา มะม่วงน้ำดอกไม้พิจิตร จ.พิจิตร และกะปิปากจก จ.พังงา เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังมีแผนช่วยจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่ โดยจะลงพื้นที่ไปประชุมหารือร่วมกับจังหวัด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียน GI รวม 6 สินค้า ได้แก่ ครุน้อยศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ มะม่วงน้ำดอกไม้ชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ กล้วยหอมทองหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ทุเรียนทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ปลาเม็งสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ปลานิลแม่น้ำโขง จ.หนองคาย รวมทั้งจะผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศจำนวน 1 สินค้า คือ ไวน์เขาใหญ่ ในอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ การจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า GI มีเป้าหมายจัดทำระบบควบคุมภายใน 8 รายการ ได้แก่ ชมพู่เพชร จ.เพชรบุรี มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ส้มแม่สิน จ.สุโขทัย กลองเอกราช จ.อ่างทอง เครื่องเคลือบเวียงกาหลง จ.เชียงราย มังคุดในวงระนอง จ.ระนอง ข้าวหอมปทุมธานี จ.ปทุมธานี และจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบตามมาตรฐานสากล 2 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.มหาสาราคาม และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เมื่อผ่านการตรวจรับรองแล้ว ผู้ประกอบการสามารถขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทยได้ โดยปัจจุบันมีการออกหนังสืออนุญาตแล้ว 7,729 รายโดยเป้าหมายการขึ้นทะเบียน GI ในปี 2565 กรมฯ ได้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 18 รายการ โดยครกหินแกรนิตตาก จ.ตาก และเผือกหอมบ้านหมอ จ.สระบุรี เป็น 2 รายการล่าสุดที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียน และยังมีสินค้าที่รอการขึ้นทะเบียนอีก เช่น ส้มโอปราจีน มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ ผ้าตีนจกโหล่งลี้ลำพูน ผ้าไหมปักธงชัย จ.นครราชสีมา ผ้าไหมสาเกต จ.ร้อยเอ็ด มันแกวบรบือ จ.มหาสารคาม พุทรานมบ้านโพน จ.กาฬสินธุ์ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบ จ.สงขลา และสับปะรดศรีเชียงใหม่
นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังจะเข้าไปช่วยยกระดับสินค้า GI ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเดิม ด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความเป็นสินค้าพรีเมียม จัดงานส่งเสริมการขายทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจัดงาน GI Fest , GI Pavilion ในงานแสดงสินค้า THAIFEX 2022 การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก GI Thailand และ Lazada และใช้ Influencer ช่วยผลักดันการจำหน่ายสินค้า GI ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งจะเร่งโปรโมตสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 172 สินค้า (ต.ค.2548–ปัจจุบัน) แบ่งเป็น GI ไทย จำนวน 154 สินค้า และ GI ต่างประเทศ จำนวน 18 สินค้า สินค้าใหม่ที่ขึ้นทะเบียนล่าสุด 2 สินค้า ได้แก่ ครกหินแกรนิตตาก เผือกหอมบ้านหมอ มีสินค้าอยู่ระหว่างพิจารณา 86 คำขอ เป็นสินค้าไทย 73 คำขอ ต่างชาติ 13 คำขอ อยู่ระหว่างประกาศโฆษณา 4 คำขอ โดยการขึ้นทะเบียนสินค้า GI สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดล่าสุด 39,997 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าสินค้า GI หลายรายการของไทยมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงขึ้นในแต่ละปีอีกด้วย