กขค.โชว์ผลงานปี 64 รับเรื่องร้องเรียนสูงสุด 71 เรื่อง เพิ่มขึ้น 2.36 เท่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นำโด่ง ตามด้วยแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่น การผลิตการค้าส่งค้าปลีก ส่วนการควบคุมธุรกิจมี 32 เรื่อง เพิ่ม 2 เท่า มูลค่ารวมธุรกิจ 2.1 ล้านล้านบาท ย้ำปี 65 เดินหน้าคุมธุรกิจแพลตฟอร์ม การควบรวมธุรกิจ และส่งเสริม SMEs ต่อ
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ตั้งแต่ปี 2561-2564 ได้รับเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 134 เรื่อง โดยในปี 2564 มีการรับเรื่องร้องเรียนสูงสุดถึง 71 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2.36 เท่า กลุ่มธุรกิจที่มีการรับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด คือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 40 เรื่อง รองลงมาคือ ธุรกิจแฟรนไชส์และธุรกิจบริการอื่นๆ จำนวน 16 เรื่อง และธุรกิจการผลิตและการค้าส่งค้าปลีกจำนวน 15 เรื่อง และเมื่อจำแนกตามพฤติกรรม พบว่าเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบจำนวน 40 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 28 เรื่อง และการตกลงร่วมกันจำนวน 3 เรื่อง โดยได้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 3 เรื่อง ผู้ต้องหาจำนวน 28 ราย อยู่ระหว่างส่งฟ้องอัยการ จำนวน 2 ราย และผู้ต้องหาขอเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายจำนวน 26 ราย ในส่วนของคดีปกครองมีการลงโทษทางปกครองจำนวน 11 เรื่อง ผู้กระทำความผิด จำนวน 16 ราย มีค่าปรับรวมประมาณ 34 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2564 ยังเป็นปีที่มีการรวมธุรกิจมากที่สุดถึง 32 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 2 เท่า และมีมูลค่าการรวมธุรกิจประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 เท่า
นายสกนธ์กล่าวว่า ในปี 2565 ประเมินว่าผู้ประกอบธุรกิจมีแนวโน้มจะควบรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่มีการใช้อำนาจเหนือตลาดหรือมีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้กำหนดนโยบายและทิศทางการกำกับการแข่งขันทางการค้า ปี 2565 ได้แก่ 1. การกำกับดูแลการแข่งขันในธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) ทุกรูปแบบ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้เงินสด โดยในปี 2564 มีมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 4 ล้านล้านบาท เช่น การจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (E-Market Place) การขนส่งสินค้า (E-Logistic) การให้บริการรับสั่งและจัดส่งอาหาร (Food Delivery) และธุรกิจจองโรงแรมที่พัก (OTA) ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่จากต่างประเทศ 2. การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ (M&A) โดยเฉพาะการควบรวมธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน 3. การส่งเสริมและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สามารถแข่งขันได้มากขึ้น
นอกจากนี้ กขค.จะมีการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำกับดูแลธุรกิจในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและแนวปฏิบัติทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ และเสริมสร้างความร่วมมือในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นเครื่องมือศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก (Business Intelligence Unit) เพื่อให้การแข่งขันทางการค้าไทยมีแนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้น รวมทั้งการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า
ขณะเดียวกัน กขค.ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เป็นไปตามหน่วยงานกำกับดูแลกฎหมายอื่นๆ ในประเทศ และชื่อภาษาอังกฤษเป็นรูปแบบเดียวกันกับองค์กรการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของต่างประเทศด้วย