xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจโลกกังวลความตึงเครียดในยูเครน "ส.อ.ท." แนะรัฐเร่งดูแลราคาพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวที ABAC 2022 ภาคธุรกิจจาก 21 เขตเศรษฐกิจล้วนกังวลประเด็นความตึงเครียดในยูเครนที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและการชะงักงันของการเติบโตเศรษฐกิจโลกได้ ประธาน ส.อ.ท.แนะรัฐบาลไทยเตรียมพร้อมรับมือน้ำมันแพงผลกระทบหลัก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) 2022 และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ปี 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก จึงได้มีการประชุม “ABAC 2022 ครั้งที่ 1 ระหว่าง 15-18 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีสามาชิกร่วม 300 คนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก ขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด EMBRACE ENGAGE ENABLE โดยมีนาย Gan Kim Yong รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งภาคเอกชนต่างตระหนักดีว่าขณะนี้เป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมทางธุรกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว แต่ก็เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสที่จะสามารถยกระดับการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน

“การหารือภาคธุรกิจ 21 เขตเศรษฐกิจ (20 ประเทศ 1 เขต ศก.) ที่ผ่านมายังไม่ได้มีประเด็นเกี่ยวกับกรณีที่สหภาพยุโรปหรืออียูจะคว่ำบาตรต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน หลังจากรัสเซียรับรองให้เป็นรัฐเอกราชแต่ได้หารือกันกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยทุกส่วนกังวลหากเกิดการสู้รบหรือนำไปสู่ความรุนแรงเพราะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่จะชะงักงันได้” นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับกรณีดังกล่าว หากมองผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงกับไทยหลักๆ น่าจะเป็นในเรื่องของระดับราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้น และปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ตามมาจากทั่วโลก ดังนั้นเห็นว่ารัฐบาลไทยเองจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องของการดูแลราคาพลังงาน ราคาสินค้าไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนมากเกินไป ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองก็ดูแลราคาน้ำมันระดับหนึ่งแล้ว การตรึงราคาไว้นานเกินก็อาจเกิดปัญหาได้เช่นกันรัฐบาลจึงต้องพิจารณาแนวทางต่างๆ อย่างรอบด้าน

ประเด็นที่ ABAC ให้ความสำคัญคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่และเป็นข้อห่วงกังวลหลัก อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 (ค.ศ. 2022) เป็นโอกาสที่จะเปิดรับความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) ด้วยการกลับมาเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย ตลอดจนความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ

“อนาคตบริบททางการค้าในภูมิภาคยังคงมีความสำคัญ “ผู้นำเอเปกได้กำหนดเป้าหมายสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ ABAC ต้องการเห็นองค์การการค้าโลก (WTO) มีความเข้มแข็งและมีบทบาทที่มากขึ้นจากการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกในปีนี้” นายสุพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดย ABAC จะดำเนินการตาม Climate Leadership Principles ปี ค.ศ. 2021 เพื่อเตรียมรับกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การจัดทำแผนการดำเนินงานสำหรับระบบอาหาร (Food System) ที่มีความยั่งยืน การใช้เทคโนโลยี และการเป็นมิตรตีอการค้าภายใต้ APEC Food Security Roadmap ฉบับใหม่ เป็นต้น

“ABAC ขอเรียกร้องให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเปิดพรมแดนอย่างปลอดภัย เพื่อช่วยเร่งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือ MSME ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดการเคลื่อนย้ายของผู้คน” นายสุพันธุ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น