xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ ม.ค. 65 สูงสุดรอบเกือบ 2 ปี แนะรัฐเร่งแก้ค่าครองชีพ-ตรึงดีเซล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค. 65 แตะ 86.8 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันและสูงสุดในรอบ 22 เดือนเริ่มกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ยังคงวิตกราคาสินค้าอุปโภค บริโภคพุ่ง เร่งรัฐแก้ปัญหาค่าครองชีพ-ตรึงดีเซล-คุมเงินเฟ้อ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.8 ในเดือนธันวาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 22 เดือนนับตั้งแต่ เม.ย. 63 หรือกลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นต้นทุนประกอบการ

ทั้งนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ยังขยายตัวสะท้อนจากคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในช่วงเดือนมกราคม แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทำให้สถานการณ์การระบาดไม่รุนแรงเหมือนกับช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย ดังนั้นจึงต้องการเสนอให้ภาครัฐควบคุมอัตราเงินเฟ้อและเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เช่า มาตรการลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า) ลดราคาก๊าซหุงต้ม และการเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง

ขอให้ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท รวมทั้งการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาสูงเพื่อลดภาระด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการ 3) เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์โควิด-19

ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ โดยปรับมาตรการ Test & Go ให้ลดจำนวนครั้งการตรวจ RT-PCR ให้เหลือเพียงครั้งเดียว และให้ใช้วิธีการส่งผลตรวจ ATK ผ่านระบบ หลังการเดินทางเข้าประเทศ 5 วัน แทนการตรวจด้วย RT-PCR เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง


“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรมาดูเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้กระทบ ต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคเนื่องจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจโลจิสติกส์ แต่ก็ยอมรับว่ารัฐบาลมีทางเลือกไม่มากเพราะการปรับราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และคนที่เสียภาษีก็คือประชาชนอีก” นายสุพันธุ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น