xs
xsm
sm
md
lg

กทม.รับติดตั้งสะพานเหล็กเอง จบปมหนี้ "สายสีเขียว" กมธ.คมนาคมแนะตั้งกรรมการชุดใหม่เจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ตอบ "คมนาคม" แล้ว ชี้แจงปมข้อสังเกตต่อสัมปทานสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เคาะรับโอนติดตั้งสะพานเหล็ก 2 ตัวมาติดตั้ง จบปมหนี้สิน ด้าน "โสภณ ซารัมย์" สรุปผลสัมมนา "กมธ.คมนาคม" แนะตั้ง กก.ชุดใหม่เจรจาต่อสัมปทานบีทีเอส

รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่กระทรวงคมนาคมมีความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม ทั้งประเด็นการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย และ กรรมสิทธิ์ ที่ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง                      ล่าสุดมีรายงานข่าวจากผู้บริหารระดับสูง กทม.เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กทม.ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงประเด็นข้อสังเกตประกอบการพิจารณาผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตามที่กระทรวงคมนาคมสอบถาม 4 ประเด็นเรียบร้อยแล้ว โดย 3 ประเด็นแรก คือ อัตราค่าโดยสาร ระบบตั๋วร่วม และเรื่องกฎหมาย   กทม.ยืนยันข้อมูลเดิม ซึ่งได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว

ส่วนประเด็นที่ 4 เรื่องการโอนกรรมสิทธิ์โครงการจาก รฟม.ที่ระบุว่ายังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปรายละเอียดด้านการเงิน ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตามแนวทางการดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่กรณีที่ รฟม.รื้อโครงสร้างสะพานเหล็กจากแยกรัชโยธิน และแยกเกษตร และนำไปติดตั้งที่แยกหทัยราษฎร์และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ทดแทนตามจุดที่ กทม.กำหนดนั้น กทม.ระบุว่า ปัจจุบันโครงสร้างสะพานยังอยู่ที่ รฟม. โดย รฟม.ให้เหตุผลว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจุดติดตั้งสะพานอยู่นอกพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงเป็นเหตุต่อการพิจารณากรอบวงเงินลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตามที่มีข้อสังเกต ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตสอบถามความชัดเจนจาก กทม. และมีผลต่อการพิจารณาผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

ดังนั้น กทม.  โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ร่วมกับสำนักการโยธา (สนย.) ได้มีการประชุมหารือเพื่อหาข้อยุติปัญหาดังกล่าว ได้ข้อสรุปว่า สนย.จะรับโอนสะพานเหล็กทั้ง 2 จุดมาดำเนินการติดตั้งเอง จากเงื่อนไขเดิม รฟม.ต้องรับผิดชอบติดตั้ง ซึ่งทราบว่า รฟม.มีการเสนอของบเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลัง แต่ไม่ได้รับอนุมัติ เพราะกระทรวงการคลังเห็นว่าจุดติดตั้งอยู่นอกพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

อย่างไรก็ตาม สนย.เตรียมเสนอ กทม.ของบดำเนินการติดตั้งสะพานเบื้องต้น จำนวน 480 ล้านบาท เพื่อตัดงบส่วนนี้ออกจากกรอบวงเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของ รฟม. เพื่อให้กรอบการลงทุนลงตัว ทั้งนี้ กทม.ได้สรุปผลดำเนินการรายงานกระทรวงมหาดไทย รับทราบเพื่อเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป

@กมธ.คมนาคมแนะตั้ง กก.ชุดใหม่เจรจาต่อสัมปทานบีทีเอส

ขณะที่เวทีการสัมมนา เรื่อง “สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม (นายสรพงศ์  ไพฑูรย์พงษ์  รองปลัดกระทรวงคมนาคม) เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล (นายสุรเชษฐ์  ประวีณวงศ์วุฒิ) ร่วมสัมมนาฯ นั้น

นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการสัมมนาว่า เรื่องสายสีเขียวอย่างไร รัฐบาลจะต้องนำเรื่องเข้า ครม. ดังนั้น ต้องมาดูว่าจะเดินต่ออย่างไร ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 นำเข้า ครม.และ ครม.มีมติไม่เห็นด้วย โดยให้นำเรื่องกลับไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งแนวทางนี้ ครม.จะต้องไปยกเลิก มาตรา 44 ของ คสช. ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่น่าจะเดินไปลำบาก

แนวทางที่ 2 นำเข้า ครม. และ ครม.มีมติไม่เห็นด้วย โดยให้กระทรวงมหาดไทย โดย กทม.พิจารณาทบทวนผลการเจรจา และปรับปรุงร่างสัญญาสัมปทาน แล้วจึงดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ข้อ 3 หมายความว่า ไปเจรจาใหม่ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ทำหน้าที่พิจารณา ระเบียบข้อกฎหมาย ระยะเวลาสัมปทาน อัตราค่าโดยสาร ระบบตั๋วร่วม ปัญหาหนี้สิน และโอนกรรมสิทธิ์ กันใหม่

"กรรมการชุดเก่าขาดความน่าเชื่อถือแล้ว ต้องรื้อใหม่ ตั้งกรรมการที่ทุกฝ่ายยอมรับ และมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส ให้สังคมมีส่วนร่วมและเกิดความน่าเชื่อถือ
แบบนี้เดินต่อไปได้ แต่แนวทาวนี้ ครม.ต้องไม่เห็นด้วยก่อน

เรื่องมาขนาดนี้ ถ้าไม่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับไม่ว่าจะออกทางไหน ไม่ว่าจะต่อหรือไม่ต่อสัมปทานก็เป็นเรื่องที่สังคมเคลือบแคลง ดังนั้นเพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ ข้อเสนอนี้เป็นทางออกที่ดี ทุกฝ่ายยอมรับได้" นายโสภณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น