"คมนาคม" เปิดภาระหนี้สีเขียวกว่า 5.7 หมื่นล้าน กทม.ยังชำระไม่ครบ โอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์ เผยหนังสือด่วนถึงเลขาฯ ครม.ค้านอนุมัติสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสีเขียว แฉ กทม.ยื้อเคลียร์ย้ายโครงเหล็กสะพานรัชโยธิน, เกษตร ไปทำใหม่ที่แยกหทัยราษฎร์, บางแวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยจำนวน 7 คน ได้ยื่นหนังสือขอลาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (8 ก.พ.) พร้อมกัน โดยอ้างเหตุ จากกรณี เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง รมต. พรรคภูมิใจไทยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเห็นด้วยกับความเห็นของกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่ กค (ปคร) 0208/24 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ถือเป็นจุดยืนที่ชัดเจน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นไปเหมือนเดิม ซึ่งยังไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจนจาก กทม. ทั้งนี้ จุดยืนของกระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรจะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน เพราะกรณีนี้เป็นการบริหารบริการสาธารณะซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน หากในอนาคตมีผู้ร้องเรียนและพบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามกฎหมาย จะเกิดความเสียหาย
โดยวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คค.(ปคร.) 0208/28 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
อ้างอิง หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/1360 ลงวันที่ 17 มกราคม 2565 พร้อมสำเนาหนังสือกระทรวงคมนาคมอีก 6 ฉบับ โดยระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรุงเทพมหานครได้จัดส่งข้อมูลและชี้แจงการดำเนินการ ตามความเห็นของกระทรวงคมนาคมเพื่อประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม หากกระทรวงคมนาคมมีความเห็นเพิ่มเติมประการใด ขอให้แจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบโดยด่วน ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้ว ขอยืนยันตามความเห็นเดิมว่า ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กทม. เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นของการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การรองรับระบบตั๋วร่วม และความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมาย นอกจากนี้ ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังคงเป็นหน่วยงานเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง อันเป็นสาระสำคัญที่ไม่อาจเห็นด้วยต่อแนวทาง การดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย นอกเหนือจากประเด็นอื่นๆ ที่กระทรวงคมนาคมได้เคยนำเสนอและแจ้งยืนยันในครั้งนี้
กระทรวงคมนาคมขอให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม กรณีที่ กทม.รายงานว่าการโอนกรรมสิทธิ์ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจาก รฟม. ยังไม่สรุปรายละเอียดด้านการเงินช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทำให้ไม่สามารถรับโอนโครงการได้
กระทรวงคมนาคมขอรายงานข้อเท็จจริงว่า กทม. รฟม. สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมเพื่อหารือสรุปรายละเอียดค่าใช้จ่ายโครงการ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกันเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 แต่ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทาง การดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เข้าพื้นที่ กรณีการติดตั้งสะพานเหล็ก แยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งรอคำยืนยันจาก กทม.
เนื่องจากการพิจารณากรอบวงเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะได้ข้อสรุปมีความจำเป็นต้องทราบความชัดเจนของแนวทางการติดตั้งสะพานเหล็กทั้ง 2 แห่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 รายละเอียดตามที่ส่งมาด้วย 6-7 ขอทราบผลการพิจารณาของ กทม. และปัจจุบัน กทม. ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงคมนาคมทราบ
@เปิดภาระหนี้สีเขียวกว่า 5.7 หมื่นล้าน กทม.ยังชำระไม่ครบ คมนาคมยังไม่โอนกรรมสิทธิ์
สำหรับภาระทางการเงินและการโอนกรรมสิทธิ์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นั้น ทางกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ช่วง คือ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้ กทม.แต่อย่างใด เนื่องจาก กทม.ยังไม่ได้ชำระหนี้ครบถ้วน ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีภาระค่าใช้จ่าย 3 ประเภท คือ เงินกู้ ใช้สำหรับค่าก่อสร้างงานโยธา (เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน), งบประมาณแผ่นดิน เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และค่าจ้างที่ปรึกษารายงาน PPP, เงินรายได้ของ รฟม. เป็นค่าภาษีบำรุงท้องที่ โดยการชำระหนี้สินของโครงการมีดังนี้ 1. ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ วงเงินตามมติ ครม. จำนวน 19,163 ล้านบาท (วงเงินตามสัญญา 20,967.48 ล้านบาท) แบ่งเป็น เงินกู้ จำนวน 15,019.15 ล้านบาท, งบประมาณ จำนวน 4,115.88 ล้านบาท, เงินรายได้รฟม. จำนวน 15.06 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กทม.ได้ทำสัญญายืมเงินกับกระทรวงการคลัง 2 ฉบับ วงเงิน 19,163 ล้านบาท คงค้างจำนวน 15.06 ล้านบาท ที่ รฟม.ใช้รายได้ดำเนินการ
ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ณ วันที่ 31 มกราคม 2565 กทม.ยังไม่มีการชำระหนี้สินใดๆ โดยวงเงินตามมติ ครม. จำนวน 38,179 ล้านบาท (วงเงินตามสัญญา 44,339.95 ล้านบาท) แบ่งเป็น เงินกู้ จำนวน 28,166.63 ล้านบาท, งบประมาณ จำนวน 5,868.23 ล้านบาท, เงินรายได้ รฟม. จำนวน 78.34 ล้านบาท
จากภาระทางการเงินดังกล่าวที่ กทม.ยังชำระไม่ครบถ้วน ดังนั้นจึงยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ กทม. และยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทาง การดำเนินการติดตั้งสะพานเหล็ก แยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดค่าใช้จ่ายโครงการที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและรอคำยืนยันจาก กทม.
@กทม.ไม่เคลียร์ปมย้ายโครงเหล็กสะพานรัชโยธิน, เกษตร ไปทำใหม่ที่หทัยราษฎร์, บางแวก
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงประเด็นการติดตั้งสะพานเหล็กแยกหทัยราษฎร์ และแยกพุทธมณฑลสาย 2 ว่า เกิดจากช่วงก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่ง กทม.โดยสำนักการโยธา ได้อนุญาตให้ รฟม.เข้าพื้นที่ก่อสร้างบริเวณถนนพหลโยธิน ซึ่งต้องมีการรื้อสะพานลอยรถยนต์ข้ามแยก 2 ตัว สะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ สะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้า และก่อสร้างสะพานลอยใหม่โดยใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟฟ้า
โดย กทม.เขียนเงื่อนไขว่าให้ รฟม.นำโครงเหล็กของสะพานเก่า 2 ตัวที่รื้อออกไปก่อสร้างใหม่ในตำแหน่งที่กทม.ระบุ โดย กทม.แจ้งภายหลัง ต่อมา กทม.ได้แจ้งให้ไปติดตั้งใหม่ที่แยกหทัยราษฎร์ 1 แห่ง และแยกพุทธมณฑลสาย 2 อีก 1แห่ง ซึ่ง รฟม.ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่อยู่ในแนวพื้นที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งได้แจ้งให้สำนักการโยธาของ กทม.ทราบ และเสนอให้โอนเงื่อนไขนี้ไปให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในฐานะหน่วยงาน กทม.ที่ต้องรับโอนภาระหน้าที่ทั้งหมดของโครงการฯ เป็นผู้ดำเนินการ แต่สำนักการโยธากับ สจส. ตกลงกันไม่ได้