หอการค้าไทยนำทีมเอกชนหารือภาครัฐเตรียมการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเพื่อสานความสัมพันธ์ทางการค้าวันที่ 26 ก.พ.นี้ หลังนายกรัฐมนตรีเดินหน้าไปเยือนก่อนหน้า ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็น 1.5 แสนล้าน เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้นำคณะเข้าร่วมหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายดามพ์ บุญธรรม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อเตรียมนำภาคเอกชนเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนก่อนหน้านี้ โดยคณะที่ร่วมหารือเตรียมการในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนในสาขาธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เกษตรและอาหาร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไปประเทศซาอุฯ ประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 45,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.6% ของการส่งออกทั้งหมด แต่หลังจากการเดินทางเยือนซาอุฯ ของนายกรัฐมนตรี ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทย โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้สัดส่วนการส่งออกไปยังซาอุฯ กลับไปที่ประมาณ 2.2% ของการส่งออก ซึ่งเคยเป็นสัดส่วนในปี 2532 นั่นหมายถึงปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นไปถึงประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยสามารถจะเจาะตลาดได้เพิ่มขึ้น มีทั้งสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าอาหารและอาหารแปรรูป เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดคณะนักธุรกิจเดินทางเยือนซาอุฯ ซึ่งสอดคล้องกับสาขาความร่วมมือทั้ง 9 ด้านที่นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือขณะเยือนซาอุฯ ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว 2. พลังงาน 3. แรงงาน 4. ความมั่นคงทางอาหาร 5. สุขภาพ 6. ความมั่นคง 7. การศึกษาและศาสนา 8. การค้าและการลงทุน และ 9. กีฬาและวัฒนธรรม
นายสนั่นกล่าวว่า กำหนดการตั้งไว้วันที่ 26 ก.พ. 2565 เบื้องต้นจะไปเยือนเมือง Riyadh และ Neom ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ซาอุฯ ค.ศ. 2030 (Saudi Vision 2030) โดยจะมีการหารือกับทางภาครัฐและภาคเอกชนของทางซาอุฯ ในการสร้างความร่วมมือทางการพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกันโดยเฉพาะการค้า และยังได้รับทราบว่าหอการค้าซาอุฯ มีความประสงค์จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะมีการหารือกับภาคเอกชนไทยในรายละเอียดการจัดตั้งต่อไป
สำหรับโอกาสความร่วมมือที่ต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างการจัดคณะภาคเอกชนเดินทางไปเยือนซาอุฯ เพิ่มเติมจากการค้าระหว่างกัน ได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรในด้านบริการการท่องเที่ยว การศึกษา การแพทย์ รวมทั้งการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านกีฬา (Sport Diplomacy) และการร่วมลงทุนด้านพลังงานทางเลือก (Renewable Energy)
ซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง และมีแผนที่จะขยายและพัฒนาประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว ส่วนนี้จะเป็นโอกาสให้แก่ประเทศไทยในการส่งออกสินค้า โดยสินค้าที่คาดว่ามีศักยภาพในการส่งออกไปซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติม เช่น ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป อัญมณี วัสดุก่อสร้าง แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคการค้ากับซาอุฯ อยู่บ้าง โดยเฉพาะปัญหาการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล