มิตซูบิชิจับมือพันธมิตรทำโครงการ “Solar for Lives : พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ติดตั้งแผงโซลาร์ให้โรงพยาบาลชุมชน 40 แห่งทั่วประเทศภายใน 10 ปีด้วยงบลงทุน 60 ล้านบาท หวังสร้างคุณภาพชีวิตให้คนไทยในพื้นที่ห่างไกลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดรับนโยบายประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
วันนี้ (11 ม.ค.) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม “Solar for Lives: พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลประหยัดค่าไฟฟ้าภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กฟผ. และ อบก.
โดยโครงการนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ วางเป้าหมายดำเนินโครงการระยะแรก 10 ปี ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อใช้ในการติดตั้ง และส่งมอบระบบแผงโซลาร์ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลรักษารายปีให้แก่โรงพยาบาลชุมชนรวม 40 แห่งทั่วประเทศ โดยแผงโซลาร์ดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้นาน 25 ปี คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ถึงกว่า 17,300 ตัน ในระยะเวลา 10 ปี และช่วยโรงพยาบาลลดค่าไฟได้มากถึง 4 แสนบาทต่อปีต่อแห่ง
นายเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการ 'Solar for Lives' ได้ริเริ่มตามแนวทางการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ผ่านหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นเพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีทิศทางในการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมที่ชัดเจน และมุ่งหน้าดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนสมดุล เราได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลงมากกว่า 6,100 ตันต่อปี รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
สำหรับการคัดเลือกโรงพยาบาลชุมชนที่บริษัทจะเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคานั้น จะคัดเลือกจากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และขึ้นอยู่กับความต้องการโรงพยาบาลและโครงสร้างทางกายภาพของโรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นสำคัญ ซึ่งโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของโครงการที่จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาติดตั้งแผงโซลาร์โรงพยาบาลชุมชนแห่งที่ 2 ทางภาคเหนือ เพื่อดำเนินการในเดือนมีนาคมนี้ โดยวางเป้าหมายติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่งต่อปี
นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ทาง กฟผ.ได้สนับสนุนการดำเนินการ พร้อมให้คำแนะนำเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงสนับสนุนกระบวนการออกใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ซึ่ง กฟผ.ได้รับสิทธิ์ให้เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายสิทธิ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพียงรายเดียวของประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสีเขียว (กลุ่มบริษัท RE100)
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) กล่าวว่า อบก. เป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ประเทศไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน (Driving Ambition for Carbon Neutrality) โดยมีการผนึกกำลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตามเจตนารมณ์ภายใต้ความตกลงปารีส และเป็นหน่วยงานให้การรับรองคาร์บอนเครดิตเพียงองค์กรเดียวในประเทศ ซึ่ง อบก.ได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือโครงการ T-VER ขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ซึ่ง อบก.จะเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ หรือเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยสามารถนำไปแลกเปลี่ยน หรือซื้อ-ขาย เพื่อนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร งานอีเวนต์ ผลิตภัณฑ์ หรือบุคคลได้
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งมอบและติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่โรงพยาบาลชุมชน ระหว่างบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลชุมชนอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้