xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 11 เดือนโต 5.84% จับตา "โอมิครอน" หากระบาดรุนแรงฉุด ศก.ชะงัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ย. 64 แตะ 101.38 สูงสุดรอบ 8 เดือนหนุน 11 เดือนดัชนีฯ ขยายตัว 5.84% อานิสงส์ภาคส่งออกเติบโตสูง ไทยคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย. จับตา "โอมิครอน" หากกลับไประบาดรุนแรงเหมือนระลอกที่ผ่านมาอาจฉุด ศก.กลับไปชะงักงันได้

อุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีต่อเนื่อง เผยภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) อยู่ที่ระดับ 101.38 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.36 จากเดือนก่อนหน้า ดันดัชนี 11 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.84 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.81 ส่งสัญญาณดีขึ้น หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 64 อยู่ที่ระดับ 101.38 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเป็นค่าดัชนีฯ สูงสุดรอบ 8 เดือน และปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่ 3.0% ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 5.84% ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของภาคการส่งออกที่เติบโต ประกอบกับไทยเริ่มมีการทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย. 64 อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไปที่ต้องติดตามใกล้ชิดคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนซึ่งหากมีความรุนแรงเช่นเดียวกับในระลอกที่ผ่านมาอาจส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวอาจเกิดการชะงักงันขึ้นอีกครั้ง

“คงจะต้องติดตามใกล้ชิดการระบาดโอมิครอนหากมีความรุนแรง รวมถึงส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่นกรณีหากเกิดเป็นคลัสเตอร์ในสถานประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการลดลงของแรงงาน เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น เหล่านี้ก็จะกระทบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค. 2565 ได้” นายทองชัยกล่าว

ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน พ.ย. 64 อยู่ที่ระดับ 65.81% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค.ที่อยู่ระดับ 64.14% และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต 11 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 63.50% ส่งสัญญาณดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.88% จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.16% ตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดย WSTS (World Semiconductor Trade Statistics) คาดการณ์ยอดขายทั่วโลกปี 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.60% และในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 8.80% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 11 ปี
เม็ดพลาสติกปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.00% จากกลุ่ม Polyethylene resin, Polypropylene resin, Ethylene, Propylene และ Benzene เป็นหลัก เนื่องจากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่อง รวมถึงการทำ Turn Around ของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน น้ำมันปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 55.92% จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อนและการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้น
เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 24.88% ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และต้องรายงานต่อ อย.ทุก 15 วัน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น