ภาคการส่งออกนับเป็นเครื่องจักรหลักสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 และยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปในปี 2565 ภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่แนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น แต่กระนั้นความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ "โอมิครอน" รวมไปถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ มากมายที่กำลังคืบคลานเข้ามา .....ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะเป็นปีเสือทองที่แข็งแรง หรือเสือถอย ...ฉบับนี้จะมาเปิดมุมมองให้เห็นถึงอนาคตของภาคการผลิตและแรงงานกับผู้ที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจตัวจริง....เพื่อเป็นมุมมองในการนำไปปรับตัวรองรับ
5 ระลอกคลื่นภาคผลิตเตรียมรับมือ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2565 สิ่งที่ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเตรียมรับมือกับระลอกคลื่นที่นับวันจะทวีความรุนแรงและจะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจซึ่งหากไม่เตรียมพร้อมจะกลายเป็นคลื่นที่มีแรงกระแทกสูง ประกอบด้วย 5 คลื่นหลัก ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือ Disruptive Technology ซึ่งกระแสนี้มาแรงระยะหนึ่งแล้ว และทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพราะมีการคาดการณ์กันว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัล และอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมเก่าๆ ค่อยๆ ถูกโละออกไปจากระบบ
2. ไวรัสโควิด-19 และการมาของโควิดกลายพันธุ์ "โอมิครอน" นับเป็นคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่โควิดยังคงจะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานพอสมควรทำให้ทุกส่วนต้องปรับตัวอยู่ไปด้วยกัน และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เร็วขึ้นเพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่น รูปแบบการทำงานที่บ้าน (Work From Home) การสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หากไม่ปรับตัวก็ย่อมได้รับผลกระทบ แม้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมแต่หลายอุตสาหกรรมที่ได้รับโอกาสในการเติบโตจากโควิด-19 ก็มีไม่น้อยเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ
3. กฎกติกาว่าด้วยการลดโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ที่ประเทศพัฒนาแล้วได้วางแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ขณะที่ไทยวางเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2065 นับเป็นความท้าทายของภาคส่งออกที่ต้องเตรียมรับกติกาดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมบังคับใช้กฎหมายการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่จะนำร่อง 5 สินค้า คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า ซีเมนต์ ปี 2566
จากนั้นปี 2569 จะบังคับทุกรายการทำให้การส่งออกของไทยต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้ต้องหันมาพึ่งพิงพลังงานสะอาดมากขึ้นแทนฟอสซิล หรือต้องมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เพียงพอ หากไทยไม่เร่งปรับตัวรองรับภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการต้องซื้อ “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน” หรือ “CBAM certificates” เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ซึ่งจะมีผลฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และรวมถึงการลงทุนที่อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตได้
4. การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยสงครามทางการค้า (Trade War) โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงดำรงอยู่และมีแนวโน้มที่อาจรุนแรงขึ้นได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของโลก มีการย้ายฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงของระบบการผลิตของแต่ละประเทศเพื่อให้เกิดครบวงจรมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพิงจากประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้ไทยต้องติดตามประเด็นดังกล่าวเพื่อปรับตัวอย่างใกล้ชิด
5. ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aged Society) และอาจขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 30% ภายในปี พ.ศ. 2584 เพราะอัตราการเกิดใหม่ต่ำจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อตลาดแรงงานเพราะวัยทำงานลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ระดับ 2.0 ที่ยังพึ่งพิงแรงงานจากคนทำให้ไทยต้องหันพึ่งแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ...และจะยิ่งทำให้ไทยมีภาระด้านสังคมสูง ภาพเหล่านี้ต้องเร่งแก้ไขทั้งโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้ไทยก้าวผ่านไปให้ได้
“ไทยเรามียุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และ BCG โมเดลซึ่งจะตอบโจทย์ของการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และความยั่งยืนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ BCG โมเดล ส.อ.ท.กำลังเร่งพัฒนาไปในทิศทางนี้เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพหากดึงเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เช่น อาหารแห่งอนาคต รวมถึงพลังงานหมุนเวียน ไทยจะก้าวพ้นคลื่นที่ถาโถมเหล่านี้ได้ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยนโยบายจากรัฐที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติให้มีการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม” นายเกรียงไกรกล่าว
พลังงานสะอาดกับอนาคตภาคผลิตไทย
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวสะท้อนมุมมองธุรกิจด้านพลังงานในปี 2565 และอนาคตว่า เทรนด์ของโลกกำลังมุ่งไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาดและลดการพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิลมากขึ้นเพื่อลดภาวะโลกร้อนและกติกาต่างๆ จะเริ่มออกมาเช่น CBAM ของอียู และนโยบายองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero เหล่านี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยต้องมองหาไฟฟ้าจากพลังงงานสะอาดแบบ 100% หากมองศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) เอกชนไทยมีความพร้อมสูงแต่กติกาของรัฐต้องชัดเจนและต้องทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการเปิดเสรีไฟฟ้า
"อียูเริ่มชัดเจนในการกำหนด CBAM มาใช้และยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในลักษณะเดียวกับ CBAM ที่จะถูกผลักดันให้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่มีผลบังคับใช้กันทั่วโลก ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมและการเปิดเสรีไฟฟ้าด้วยการกำหนดให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้สายส่งได้เหมือนระบบท่อก๊าซฯ โดยคิดค่าสายส่ง (วิลลิ่งชาร์จ) และซื้อขายผ่าน Blockchain ที่จะแยกไฟฟ้าพลังงานสะอาดออกมาได้ทำให้เกิดการซื้อขาย RE ระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยตรงหรือ Peer to Peer" นายนทีกล่าว
ทั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธว่าในระยะยาวตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ที่กำลังจัดทำอย่างต่ำอีก 25 ปีไทยก็ยังต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะยังคงมีการซื้อไฟจากก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ทยอยเข้ามา รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะส่วนทดแทนหน่วย 8-9 แต่ทิศทาง RE แน่นอนว่าจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและท้ายสุดคาดว่าจะมีมากกว่า 50% เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา ดังนั้นระบบสายส่งไทยจึงยังมีไฟฟ้าจากฟอสซิล การเปิดเสรีจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการซื้อขาย RE โดยตรงเพื่อตอบโจทย์ Net Zero ระยะยาว
“ส.อ.ท.เองพยายามหาทางเลือกให้กับภาคการผลิตของไทยให้มากสุด โดยหนึ่งในนั้นคือการก่อตั้ง RE100 Thailand Club เพื่อให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างผู้ผลิตไฟกับภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย และทราบว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็กำลังพัฒนาระบบ Green Tariff เพื่อจัดพอร์ตพลังงานสีเขียวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคการผลิต โดยคงจะต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าจะไปในทิศทางใด” นายนทีกล่าว
ทั้งนี้ แนวโน้ม RE โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) มีต้นทุนที่ต่ำลงมากสะท้อนจากราคาที่รับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนที่ 2.20 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกันการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในไทยก็เริ่มเป็นเชิงพาณิชย์แล้ว RE จึงมีเทรนด์ที่ราคาเริ่มจะแข่งขันฟอสซิลได้และความมั่นคงก็จะตอบโจทย์ได้จาก ESS
ตลาดแรงงานไทยกับการเปลี่ยนผ่านอุตฯ 4.0
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า แรงงานถือเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ทั้งท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม การส่งออก ซึ่งในปี 2565 ตลาดแรงงานไทยยังคงเปราะบางจากไวรัสกลายพันธุ์ "โอมิครอน" ที่ทำให้ไทยต้องกลับมาปิดประเทศไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ตลาดแรงงานในภาคท่องเที่ยวและบริการจึงยังอยู่ในภาวะทรงตัวโดยเฉพาะในไตรมาสแรกโดยต้องติดตามใกล้ชิดถึงความรุนแรงของโอมิครอน
ขณะที่แรงงานในภาคการผลิต เนื่องจากการส่งออกปี 2565 ยังเติบโตได้ภาพรวมแรงงานที่เกี่ยวข้องตลอดซัปพลายเชนของส่งออกก็ยังคงมีโอกาสการขยายตัว ยกเว้นการผลิตที่เน้นป้อนการบริโภคในประเทศก็ยังคงอยู่ในสภาพทรงๆ ตัว เช่นกัน ดังนั้นภาพรวมแรงงานของไทยขณะนี้มีอัตราแรงงานว่างงานประมาณ 1.77 ล้านคน (รวมว่างงานแฝง) แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเด็กจบใหม่ที่จะออกมาสู่ตลาดแรงงานอีกประมาณ 4.9 แสนคนในราวเดือน ก.พ. 65 ก็จะเข้ามาสมทบกับเด็กที่จบก่อนหน้านี้แล้วแต่ยังไม่ได้งานทำอีกจำนวนพอสมควรรัฐบาลต้องวางแผนรองรับ
ทั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้และอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 10 ปีเพราะภาคการผลิตในเชิงปริมาณมากกว่า 50% ของไทยเป็นอุตสาหกรรม 2.0 ซึ่งหมายถึงยังต้องการแรงงานแบบไร้ทักษะหรือแรงงานเข้มข้นจำนวนมากแต่ไทยกำลังขาดแคลนเพราะโครงสร้างแรงงานใหม่เป็นระดับมีการศึกษา ไทยจึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากขึ้น ประกอบกับไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัยก็จะยิ่งบั่นทอนการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่แรงงานต่างด้าวไทยกลับทำให้เกิดขบวนการลักลอบนำเข้า เหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ภาคการผลิตบางส่วนย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน
“ความต้องการแรงงานทักษะต่ำจะยิ่งถูกกดดันมากขึ้นในส่วนของภาคการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ประมง แปรรูปเกษตร ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ รวมถึงภาคการบริการ เช่น ร้านอาหาร หากเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว ขณะที่อุตสาหกรรม 4.0 มีความต้องการแรงงานที่ต่ำเพราะเน้นเทคโนโลยีทยอยเข้ามาซึ่งต้องอาศัยเวลา ปัญหาด้านแรงงานไทยที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตจึงต้องแก้ไขทั้งโครงสร้าง” นายธนิตกล่าว
จะเห็นว่า ปี 2565 ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะเปราะบางจากหลายๆ ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงเข้ามารุมเร้า จึงได้แต่ขออวยพรให้คนไทยทุกคนได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในชีวิตเพื่อเริ่มต้นใหม่กับสิ่งดีๆ รับปีเสือทองกันถ้วนหน้า...