ส่งออก พ.ย. 64 มูลค่า 23,647.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.7% โตต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน รวมยอด 11 เดือน มูลค่า 246,243.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.4% เผยสินค้าส่งออกโตทุกหมวด ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม คาดทั้งปีทำได้ทะลุเป้า 15-16% แน่ ส่วนเป้าปี 65 รอหารือในเวที กรอ.พาณิชย์ก่อน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ย. 2564 มีมูลค่า 23,647.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.7% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับตั้งแต่ มี.ค. 2564 คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 783,425 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 22,629.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.5% เกินดุลการค้ามูลค่า 1,018.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่ารวม 246,243.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.4% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 7,731,391 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 242,315.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.4% เกินดุลการค้ารวม 3,927.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการส่งออกในเดือน พ.ย. 2564 พบว่า หมวดสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 14.2% เป็นบวก 13 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ทุเรียนสด เพิ่ม 138.9% ขยายตัวดีมากในตลาดจีนและเกาหลีใต้ มะม่วงสด เพิ่ม 48.6% ขยายตัวดีในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ เมียนมา ญี่ปุ่น และ สปป.ลาว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 48.6% บวก 13 เดือนต่อเนื่อง ขยายตัวดีในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ลำไยสด เพิ่ม 24.7% เป็นบวก 6 เดือนต่อเนื่อง ขยายตัวดีในตลาดจีน ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และยางพารา เพิ่ม 23.5% เป็นบวก 14 เดือนต่อเนื่อง
ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 21.2% ขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง สินค้าสำคัญ เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 74% ผลไม้แช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 34.5% บวกเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และอาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 25.9% บวกเป็นเดือนที่ 27 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 23.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน สินค้าสำคัญ เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียมเหลว เป็นต้น เพิ่ม 72.9% เป็นบวก 10 เดือนต่อเนื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 51.9% เป็นบวก 12 เดือนต่อเนื่อง อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 24.9% เป็นบวกเดือนที่ 9 ติดต่อกัน แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 26.7% บวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 19.9% บวก 12 เดือนต่อเนื่อง รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 12% บวก 13 เดือนต่อเนื่อง
ทางด้านตลาดส่งออก มีตลาดที่ส่งออกขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ เอเชียใต้ เพิ่ม 66% อาเซียน เพิ่ม 55.1% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 40.7% เกาหลีใต้ เพิ่ม 30.6% สหภาพยุโรป เพิ่ม 30.2% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 27.3% จีน เพิ่ม 24.3% ไต้หวัน เพิ่ม 24.2% สหรัฐฯ เพิ่ม 20.5% และทวีปแอฟริกา เพิ่ม 18.4%
นายจุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือน พ.ย. 2564 ดีขึ้นถึง 24.7% มาจากการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในทุกรูปแบบร่วมกับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ (คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์) การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่องในหลายประเทศ การขยายตัวของภาคการผลิตทั่วโลก ดัชนี PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ส่งผลให้ขายดีขึ้น ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ ช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ในตลาดโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งสินค้าเกษตร น้ำมันดิบ โลหะ เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออก ทำให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2564 คงไม่ต่ำกว่า 15-16% ต้องรอตัวเลข ธ.ค. 2564 อีก 1 เดือน แต่ตอนนี้ 11 เดือน บวก 16.4% แล้ว ส่วนเป้าหมายปี 2565 จะประชุม กรอ.พาณิชย์ เพื่อประเมินสถานการณ์ร่วมกันก่อน ซึ่งขณะนี้ ได้ประเมินตัวเลขไว้แล้ว แต่ต้องรอประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนก่อน อาจจะเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีนี้ หรือไม่ก็สัปดาห์แรกต้นปี 2565