การตลาด - มนุษย์ป้ามนุษย์ลุงก็มีหัวใจ แต่ทำไมแบรนด์ถึงมองข้าม? “วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย” พาไปเจาะลึก กลุ่ม “Silver Gen นักช้อปที่กำลังถูกลืม” กับกลุ่มคนรุ่นใหญ่อายุ 50ปีขึ้นไป ซึ่งมีกว่า 11 ล้านคนในประเทศไทย หรือคิดเป็น 17% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ บอกเลยไลฟ์สไตล์ไม่ใช่คนหัวโบราณแบบแต่ก่อน พร้อมช้อป พร้อมใช้ พร้อมเปย์ให้ตัวเอง รวมถึงเรื่องโซเชียลก็ไม่เป็นสองรองใคร
จากที่นักการตลาดมักจะให้ความสำคัญกับนักช้อปตัวยงอย่างเจน Z เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ในความเป็นเป็นจริง อย่าลืมนึกถึง “Silver Gen นักช้อปที่กำลังถูกลืม” ด้วย จากการศึกษาชิ้นใหม่ โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย พบว่านักช้อปรุ่น Silver Gen กลายเป็นกลุ่มที่ถูกลืมและละเลย ทั้งๆที่พวกเขากำลังเบ่งบาน เป็นคนรุ่นใหญ่ที่มีใจเป็นอิสระ มีทั้งเงินและเวลามากที่สุด ตลาดของกลุ่ม Silver Gen กำลังเติบโตและเป็นโอกาสทางธุรกิจสำคัญของทุกๆ แบรนด์
ปัจจุบันประชากรผู้สูงวัยกำลังขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สถานะสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นจนมีมากกว่า 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% ของประชากรทั้งประเทศ การศึกษาจากหลายแหล่งได้เคยแตะประเด็นความท้าทายของการที่อายุของประชากรมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น แต่มีไม่กี่แหล่งเท่านั้นที่ได้สำรวจตรวจสอบอย่างแท้จริงจนถึงขั้นที่มองเห็นเซ็กเมนท์ซึ่งได้รับความใส่ใจน้อยที่สุด อย่างเช่นคนรุ่น50+ หรือ Silver Generation แบรนด์พากันพุ่งความสนใจอย่างมากมายไปที่คนในรุ่นอายุน้อยกว่า มุ่งตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของพวกเขาเป็นหลัก และมักจะมองข้ามชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
ที่จริงแล้วกลุ่ม Silver Gen และกำลังซื้อของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพวกเขากระตือรือร้นกับการเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งภาวะของการสูงวัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเนื่องจากช่วงชีวิตของคนที่ยืนยาวยิ่งขึ้น และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ
นางมัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการศึกษาเรื่อง “นักช้อปที่ถูกลืม 2021” (Forgotten Shopper 2021) ในประเทศไทย โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย พบว่า แบรนด์ นักการตลาด และผู้โฆษณา ต่างเฮโลกันสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียลกันอย่างมากมายในช่วงปีหลังๆนี้ จนผู้บริโภครุ่นอายุก่อนหน้าอาจรู้สึกถูกมองข้ามหรือหมางเมิน แบรนด์ลืมไปแล้วว่าไม่ได้มีเพียงผู้บริโภครุ่น Gen Z และมิลเลนเนียลเท่านั้นที่มีเงินและศักยภาพในการใช้จ่าย ที่จริงแล้วคนรุ่นอาวุโสกำลังค้นหาความสุขในช่วงชีวิตวัยหนุ่มสาวของพวกเขาอีกครั้ง มีเวลาที่จะหาความสุขได้อย่างเต็มที่ และมีกำลังซื้อสูงไม่แพ้ผู้คนในรุ่นอายุน้อยกว่าอีกด้วย
**เจาะลึก 5 แง่มุม กลุ่ม Silver Gen **
1.วิธีคิดและการรับรู้ : คนที่อายุเกิน 50 ไม่ได้เป็นมนุษย์ป้า-มนุษย์ลุงกันทุกคนหรอกนะ เพราะหัวใจยังมีไฟอยู่ ความนึกคิดและจิตใจของพวกเขายังอยู่ในช่วงวัย 30 กว่าๆ เท่านั้น และพร้อมใช้ชีวิตให้เต็มที่ เป็นกลุ่มที่มีเวลา มีเงิน และมีอิสระที่จะเข้าสังคมและใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้มากว่าคนรุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน ที่สำคัญชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างไกลยิ่งขึ้น คอยติดตามเทรนด์ใหม่ๆ ในยุคสมัยปัจจุบันอยู่เสมอ
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ : แบรนด์ควรมองชาว Silver Gen ว่า Young at Heart มองพวกเขาเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังใช้ชีวิตอย่างเริงร่ากว่าที่เคย มีสิ่งที่คิดจะทำมากมาย และไม่แยแสว่าใครจะมองพวกเขาอย่างไร เปลี่ยนทัศนคติเหมารวมและสมมุติฐานในแง่ลบที่มีต่อผู้อาวุโสว่าพวกเขามีข้อเรียกร้องมากมายไร้เหตุผล และนำเสนอด้านอื่นๆ ที่เป็นพลังบวกของชาว Silver Gen เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้คนมากมายในสังคม
2.ครอบครัวและชีวิตทางสังคม : ชาว Silver Gen ยังเป็นที่พึ่งพาและเป็นผู้ดูแลครอบครัว 75% หรือเป็นธนาคารของครอบครัว และ44% ยังคงอุ้มชูครอบครัวในเรื่องเงินและยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จากค่าเฉลี่ยชาว Silver Gen มีรายได้โดยเฉลี่ยเทียบเท่ากับค่าแรงต่อเดือนของประเทศไทย โดย 50% มีรายได้ 10,000 – 25,000 บาทต่อเดือน และรายได้ของพวกเขาไม่ได้สูงกว่าคนในรุ่นอื่นๆ นอกจากนี้ยังพบว่า 83%ยังคงเข้าสังคมอย่างกระตือรือร้นและติดต่อกับผู้อื่นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ : บทบาทในการช่วยเตรียมความพร้อมและร่วมวางแผนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทั้งในด้านสังคม สุขภาพ และการดำเนินชีวิต, ศึกษาและประเมินผลกระทบของการเข้าถึงบริการทางสังคมต่างๆ ที่อาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้, วางแผนการเสนอขายตลอดจนเส้นทางการซื้อของตน เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายในรุ่นต่างๆ, จับมือกับพื้นที่ชุมชนต่างๆ ตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อให้บริการแก่กลุ่มนี้ และส่งเสริมการก่อตั้งสมาคมหรือศูนย์ผู้สูงวัย เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและงานต่างๆ ณ ชุมชนในพื้นที่
3.สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี : “ฉันไม่ต้องการดูเด็กเหมือนอายุ 25 แต่ฉันอยากเป็นผู้หญิงอายุ 56 ที่สวยสมวัย” ทั้งในด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในขณะที่คนเรามีอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง 79% ระบุว่าพวกเขาให้ความใส่ใจกับสุขภาพร่างกายมากกว่าสุขภาพจิต และ60% เข้ารับการตรวจสุขภาพเพียงปีละครั้งหรือเมื่อรู้สึกไม่สบายเท่านั้น และมี 57% รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกวัน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อสุขภาพกระดูกที่ดี และเพื่อการชะลอวัย
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ : ด้านสุขภาพกาย แบรนด์ควรเจาะเซ็กเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ เช่น วิตามิน โรงพยาบาล ประกัน นำเสนอการดูแลร่างกายให้แข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดี คือวิธีที่คนรุ่นอาวุโสจะสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่ ส่วนสุขภาพจิตใจ แบรนด์ควรเจาะตลาดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงทางจิตใจ เช่น เกมในรูปแบบแอปพลิเคชั่นง่ายๆ ซึ่งผสานทั้งผลิตภัณฑ์ เกมตอบคำถาม การเรียนรู้ เกร็ดความรู้ต่างๆ ไว้ด้วยกัน หรือกิจกรรมทางดนตรีผ่านเพลย์ลิสต์เพลงจากวันวานทาง YouTube และ Spotify และกิจกรรมพบปะกันของชุมชนคนวัน 50 ปีขึ้นไป
4.ชีวิตเกษียณและการเงิน: ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง มันคือการเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการทำงาน ชาว Silver Gen 71% มีชีวิตอยู่เพื่อทำงานและทำงานเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และไม่ต้องการหรือมีการวางแผนเกษียณ ที่จริงแล้วบางคนไม่สามารถเกษียณได้เนื่องจากมีพันธะทางการเงินและยังจำเป็นต้องจุนเจือครอบครัว
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ : แบรนด์มีโอกาสสำคัญในการตอบสนองความต้องการของชาว Silver Gen ศึกษาโอกาสการเติบโตของเครื่องดื่มบำรุงสมอง เครื่องดื่มให้กำลังงานและเครื่องดื่มสำหรับการเล่นกีฬา แอปพลิเคชั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเซ็กเมนต์อื่นๆ ที่คล้ายกัน และเนื่องจากพวกเขาจะยังไม่เกษียณในเร็ววันนัก ดังนั้นด้านการเงินสามารถคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อกระตุ้นและเติมเติมความต้องการของชาว Silver Gen ให้ใช้ชีวิตกินอยู่ดีและรักษาความกระปรี้กระเปร่าเอาไว้ เช่นการวางแผนการลงทุนเพื่อชีวิตที่สองและการมีเงินเก็บเพื่อเที่ยวรอบโลก เป็นต้น
5.เทคโนโลยีและสื่อ: สื่อออนไลน์มีไว้เพื่อไม่ให้ขาดการติดต่อและติดตามข่าวคราว แต่ฉันเชื่อสื่อดั้งเดิมมากกว่า ชาว Silver Gen พร้อมเปิดใจเรียนรู้และทดลองเทคโนโลยีและแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ๆ แต่ว่ายังมีอคติไม่เชื่อถือ โดยใช้สมาร์ทโฟนและหาความบันเทิงจากการดูโทรทัศน์เป็นหลัก และยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งใช้แพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียน้อยลง เปิดรับแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซยังอยู่ในระดับต่ำ ให้ความสำคัญกับเรื่อง คืนสินค้าได้ง่าย ชำระเงินปลายทางได้ และมีบริการส่งฟรี มากกว่า
สิ่งที่แบรนด์ควรทำ : นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ในเรื่องโฮมเพจ หน้าจอเริ่มต้น และปุ่มเปิด/ปิด เพื่อตอบสนองและสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ง่าย, แบรนด์จะต้องผสานผลิตภัณฑ์ของตนเข้ากับพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ให้ได้ โดยไม่สร้างแบบแผนกิจวัตรและพฤติกรรมชุดใหม่ให้กับพวกเขา รวมถึงการเลือกใช้ KOL ต้องเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเดียวกับ Silver Gen แต่ไม่จำเป็นต้องอายุไล่เลี่ยกัน
.
นางมัวรีน ตัน กล่าวด้วยว่า กลุ่มคน Silver Gen มักถูกเหมารวมว่าเป็นคนรุ่นผมหงอกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ใช้ชีวิตนิ่งๆ อยู่กับที่ และกลัวเทคโนโลยี แบรนด์จึงต้องศึกษาตลาดและปรับตัวเข้าหาพฤติกรรมของคนรุ่นนี้ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการรับรู้และกลยุทธ์ที่ใช้ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้
ดังนั้น 7 สิ่งที่แบรนด์สามารถช่วยชาว Silver Gen ได้ คือ
1. จัดผู้ใหญ่วัยอาวุโสเป็นผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มหลักในการศึกษาวิจัยผู้บริโภคของแบรนด์
2. ใช้ข้อความที่สื่อสารครอบคลุมถึงพวกเขา แสดงให้เห็นว่าการสูงวัยขึ้นก็มีแง่มุมที่ดี
3. แสดงราคาและค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
4. มีการจำลองการใช้งานให้ผู้ใช้สูงวัยสามารถทดลองใช้ได้ในแบบออนไลน์
5. ให้ความมั่นใจเรื่องการป้องกันการหลอกลวงและความปลอดภัยของข้อมูลตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการสัมผัสประสบการณ์กับแบรนด์
6. มีเครื่องหมายช่วยบอกเส้นทางหรือขั้นตอนการใช้งาน ยิ่งสร้างประสบการณ์ที่ชัดเจนและง่ายได้มากเท่าไรยิ่งดี มิฉะนั้นผู้ใหญ่วัยอาวุโสอาจจะยอมแพ้เสียก่อนเนื่องจากไปต่อไม่ถูก
7. มีพนักงานที่เป็นมนุษย์คอยให้ความช่วยเหลือผู้ใช้งานหากเกิดความผิดพลาดหรือติดขัดใดๆ ขึ้น พร้อมกับเสนอการฝึกอบรมการใช้งานอย่างครบถ้วนครอบคลุมทุกเนื้อหา การสอนวิธีใช้งานควรจะครอบคลุมสิ่งต่างๆ เช่น ปุ่มสำหรับไอคอนต่างๆ ในอินเตอร์เฟส เอกสารการสอน และวิธีการง่ายๆ ในการอัพเดทซอฟท์แวร์
“การช้อปปิ้งแห่งอนาคตในประเทศไทยได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงปีหลังๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19แบรนด์ต้องไม่มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าในขณะที่คนรุ่นนี้แก่ตัวลงพวกเขาก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วยแบรนด์จะต้องคำนึงด้วยว่าคนทุกรุ่นมีความเชื่อมโยงกับแบรนด์ในแบบที่แตกต่างกันและมีวัตถุประสงค์ในการช้อปปิ้งที่แตกต่างกันออกไปจึงควรถอยกลับมาสักก้าวเพื่อพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในทุกแง่มุมปรับเปลี่ยนโฟกัสให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุและวางแผนการดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่สนใจของคนทุกกลุ่มอายุ”นางมัวรีนตัน กล่าวสรุป.