xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก 10 ข้อ ตัวตน “Silver Gen” รุ่นใหญ่ พร้อมเปย์ โอกาสทุกแบรนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เผยผลสำรวจ “Silver Gen นักชอปที่กำลังถูกลืม” เจาะลึก 10 ข้อ แสดงตัวตน นักชอปรุ่นใหญ่ เงินหนา พร้อมเปย์และมีเวลาเหลือเฟือ โอกาสทางธุรกิจสำคัญของทุกๆ แบรนด์

นางมัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นจนมีมากกว่า 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 17% แต่แบรนด์พากันพุ่งความสนใจอย่างมากมายไปที่คนในรุ่นอายุน้อยกว่าและมักจะมองข้ามชาว Silver Gen ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่จริงแล้วกลุ่ม Silver Gen และกำลังซื้อของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากพวกเขากระตือรือร้นกับการเสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งภาวะของความสูงวัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เนื่องจากช่วงชีวิตของคนที่ยืนยาวยิ่งขึ้นและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ

วันเดอร์แมน ธอมสัน จึงได้จัดทำผลการศึกษาเรื่อง “นักชอปที่ถูกลืม 2021” (Forgotten Shopper 2021) ในประเทศไทย ขึ้นมา โดยผลการศึกษาเผยให้เห็นว่านักชอป Silver Gen เป็นคนรุ่นที่มีพลังขับเคลื่อนและมีอิทธิพลต่อตลาดสูงที่สุดรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว พวกเขามีผลต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกในปัจจุบันอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับความสนใจมากเทียบเท่ากับกลุ่มมิลเลนเนียลเสมอไปซึ่งพบ 10 ข้อแสดงตัวตนกลุ่ม Silver Gen ดังนี้ 1. เอนจอยกับปัจจุบัน ไม่อยากต้องทิ้งชีวิตแบบที่เป็นอยู่และมีความสุขกับมันต่อไป พวกเขาจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ และมีความสุขกับมัน มากกว่าการขวนขวายหาเงินเพิ่ม หรือเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่


2. ร่ำรวยเวลา เมื่อพวกเขาไม่ได้ขัดสนเรื่องเวลา มีเวลาเหลือเฟือ จึงไม่ได้เน้นให้ความสำคัญต่อความรวดเร็ว รีบเร่งมากนัก แต่กลับให้ความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือและการที่สามารถคืนสินค้าได้ โดยเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจมากกว่าด้านอื่นๆ 3. ชื่นชมคนรุ่นอายุน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตาม พวกเขาชื่นชมกับการที่คนรุ่นอายุน้อยกว่าเป็นแนวหน้ากล้าทดลองอะไรใหม่ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเลือกที่จะใช้ตามหรือทำตามเสมอไป 4. สุขภาพดีเป็นเรื่องของร่างกาย สุขภาพสำหรับพวกเขาคือการคงความ “สมบูรณ์แข็งแรง” และสามารถทำงานและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ และการมีสุขภาพจิตและใจที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งเพื่อให้ไปถึงสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วย

5. ชีวิตเกษียณไม่มีอยู่จริง พวกเขาไม่เห็นว่าตนเองจะเกษียณ พวกเขายังต้องทำงานเนื่องจากมีภาระหน้าที่ทางการเงิน หรือไม่ก็เพื่อแก้เบื่อ 6. ทุกอย่างต้องจับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวกับการลงทุน พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถสัมผัส มองเห็น หรือรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสพื้นฐานได้ หรือไม่คุ้นเคยกับมัน และให้ความสำคัญต่อสิ่งที่จับต้องได้ในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าในโลกดิจิทัล 7. ผสานเทคโนโลยีใหม่เข้ากับกิจวัตรเดิมเพราะพฤติกรรมเก่าเปลี่ยนยาก ในการจับตลาดกลุ่มนี้ เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียใหม่จะต้องเข้ากันกับกิจวัตรที่คนรุ่นนี้มีอยู่เดิมด้วยจึงจะสามารถกระตุ้นอัตราการยอมรับหรือการเข้ามาใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ ของพวกเขาได้

8. ตัดสินใจซื้อจากคนที่มีปัญหาเดียวกันไม่ใช่คนดัง ผู้ที่สามารถส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของพวกเขาคือผู้ที่มีปัญหาคล้ายๆ กันหรือมีความน่าเชื่อถือ โดยที่ไม่มีปัจจัยเรื่องอายุมาเกี่ยวข้อง 9. 60+ เข้าไม่ถึงโซเชียล พบว่าการเปิดรับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและบริการออนไลน์ต่างๆ มีอัตราลดลงอย่างมากในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งที่เป็นกลุ่มที่สามามารถสร้างโอกาส และมีพลังทางการซื้อสูง และ 10. พวกเขาต้องการมีพื้นที่ของพวกเขาเอง พวกเขาต้องการให้มีแบรนด์ ผลิตภัณฑ์และสถานที่ที่ได้รับการออกแบบและตอบสนองความต้องการของเขาโดยเฉพาะ พวกเขาไม่ต้องการให้แบรนด์ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือน “ตัวแถม” หรือเป็นส่วนเกินในสังคม

“การชอปปิ้งแห่งอนาคตในประเทศไทยได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงปีหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 แบรนด์ต้องไม่มองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่คนรุ่นนี้แก่ตัวลง พวกเขาก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย แบรนด์จะต้องคำนึงด้วยว่าคนทุกรุ่นมีความเชื่อมโยงกับแบรนด์ในแบบที่แตกต่างกันและมีวัตถุประสงค์ในการชอปปิ้งที่แตกต่างกันออกไป จึงควรถอยกลับมาสักก้าวเพื่อพินิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในทุกแง่มุม ปรับเปลี่ยนโฟกัสให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ และวางแผนการดำเนินกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นที่สนใจของคนทุกกลุ่มอายุ” นางมัวรีนกล่าวสรุป




กำลังโหลดความคิดเห็น