"คมนาคม" สานต่อความร่วมมือ "ไทย-เยอรมนี" พัฒนาระบบรถไฟ ลงนามต่ออายุความตกลงอีก 2 ปี พร้อมจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยต่อยอดการพัฒนา
วันที่ 2 ธ.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายเกอร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ GTRA Workshop ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “High Speed Rail: The Changing Face of Thai Railways. In the Series of Railway Technology, Operations and Management” การประกาศก่อตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (German-Thai Railway Association : GTRA) อย่างเป็นทางการ และร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑรูย์พงษ์ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมนี
โดยกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 โดยแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ มีอายุ 3 ปี และอาจมีการต่ออายุได้อีก 2 ปีอย่างต่อเนื่องกันตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ รวม 2 ครั้ง ซึ่งการต่ออายุในครั้งนี้ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2564 ถึงวันที่ 22 พ.ย. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและกระชับความร่วมมือด้านระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการขนส่งทางรถไฟ และระบบขนส่งมวลชนในเมือง ฝ่ายไทยและฝ่ายเยอรมนีได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงฯ ได้แก่ การจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยกับมหาวิทยาลัย RWTH-Aachen และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดน (DU-Dresden) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุมฯ ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง
ซึ่งประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะที่ไทยมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทางและเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้ โดยรถไฟความเร็วสูงนั้น ประเทศไทยอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 2 เส้นทาง หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยการพัฒนาระบบรางของไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการพัฒนารถไฟฟ้า 14 เส้นทางของไทยนั้นใช้เทคโนโลยีของประเทศเยอรมนีค่อนข้างมาก และในอนาคตยังจะมีการพัฒนาระบบราง ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูง และระบบรางตามนโยบายของรัฐบาล แผน M-R Map 10 เส้นทาง อีกด้วย ซึ่งการพัฒนาระบบรางมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งนอกจากเยอรมนีแล้ว จะมีความร่วมมือกับอีกหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบราง ซึ่งในเรื่องของระบบอาณัติสัญญาณนั้น ปัจจุบันสามารถบูรณาการเชื่อมต่อกันได้หมด ทั้งยุโรป จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไม่มีประเด็นที่ต้องกังวลใดๆ