xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าภายในดัน “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” ยกระดับเป็นผู้ประกอบการ ขยายช่องทางจำหน่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าภายในดัน “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” ประเดิมกลุ่มผ้าทอและเครื่องประดับ 8 หมู่บ้าน ในเชียงใหม่ สุโขทัย นครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคาม สกลนคร และนครศรีธรรมราช ยกระดับเป็นผู้ประกอบการ ขยายช่องทางการจำหน่าย สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด -19
 
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึงเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยให้ความสำคัญต่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการในชุมชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้มแข็งอย่างเพียงพอขาดการพัฒนาคุณภาพและการสร้างสรรค์มูลค่า รวมทั้งขาดความรู้ในการทำการค้าขายอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้


กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงดำเนินโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้วิสาหกิจชุมชนซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน มีการยกระดับการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสามารถดำรงธุรกิจของชุมชนอยู่ได้อย่างมั่นคง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งและมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าบริการเพิ่มขึ้นจากการขยายช่องทางการตลาด โดยครั้งนี้ได้จัดโครงการ “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งเดิม กลุ่มผ้าทอและเครื่องประดับ” 8 แห่ง ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชนหล่ายแก้ว อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ 2. ชุมชนวัวลาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 3. วิสาหกิจชุมชนบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 4. กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 5. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ 6. กลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านห้วยทราย อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม 7. กลุ่มแปรรูปผ้ามัดย้อมบ้านสงเปลือย อำเภอพังโคนจังหวัดสกลนคร และ 8. กลุ่มทอผ้าดอกแค อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการค้าในประเทศโดยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาให้วิสาหกิจชุมชนมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตผลิตภัณฑ์และมีรายได้จากการขยายช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และพัฒนาศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้แก่วิสาหกิจชุมชนรู้จักทำมาค้าขายสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และแข่งขันทางการค้าได้ รวมทั้งยกระดับไปสู่การเป็นผู้ประกอบการต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น