ครม.อนุมัติเพิ่มวงเงินประกันรายได้ข้าว 76,000 ล้าน และเงินช่วยเหลือปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 20,000 บาท คาดจ่ายส่วนต่างที่ค้างได้ไม่เกินกลาง ธ.ค. หรือเร็วกว่า หลังบอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบ พร้อมอนุมัติวงเงิน 10,000 ล้านประกันรายได้ยางพารา เริ่มจ่ายได้กลางเดือนธ.ค.เช่นเดียวกัน ประเมินอาจไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง เหตุราคาเกินเพดานประกัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่ได้เสนอใน 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องข้าว เห็นชอบวงเงินประกันรายได้ 76,000 ล้านบาท 2. เห็นชอบเงินสำหรับการช่วยเหลือพัฒนาปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท จำนวนรายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท
สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ ที่ผ่านมาจ่ายไปแล้ว 2 งวด เป็นเงิน 13,000 ล้านบาท ยังค้างอยู่อีก 31 งวด ซึ่ง ครม.อนุมัติวงเงินให้แล้ว ขั้นตอนต่อไป ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องไปประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบตามมติ ครม. และจะได้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 3 และงวดที่เหลือให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว คาดว่าไม่น่าจะเกินกลางเดือน ธ.ค. 2564 หรือเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการประชุมของบอร์ด ธ.ก.ส.
ส่วนยางพารา ที่ประชุมเห็นชอบวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเมื่อผ่านที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.เช่นเดียวกับข้าวจะจ่ายเงินส่วนต่างได้ คาดว่าไม่เกินกลางเดือน ธ.ค. 2564 เช่นเดียวกัน แต่ตนคาดว่าจะเร็วกว่านั้น โดยยางพาราไม่น่าจะใช้เต็มวงเงิน แต่เตรียมวงเงินไว้ เพราะขณะนี้ราคายางพาราถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก น้ำยางข้นประกันรายได้กิโลกรัมละ 57 บาท แต่ราคาแตะ 60 กว่าบาทแล้ว ยางก้อนถ้วยประกันรายได้กิโลกรัมละ 23 บาท แต่ขณะนี้ราคาไป 24-26 บาทแล้ว ถือว่าเกินรายได้ที่ประกันไว้ ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่าง และเกษตรกรพอใจ
“ภาพรวมสำหรับราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกตัว ยกเว้นข้าว ตอนนี้ที่ราคาลงมา แต่ตัวอื่นดีหมด เช่น ปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ขณะนี้ราคา 8-9 บาท มันสำปะหลัง ประกันที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ตอนนี้ 2.60-2.80 บาท ข้าวโพดประกันรายได้กิโลกรัมละ 8.50 บาท ราคาขึ้นไป 9.50-10 บาท ในบางช่วง และตัวอื่นๆ ยกเว้นข้าว แต่ตอนนี้ราคาข้าวกระเตื้องแล้ว เพราะราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้นมาตรฐานไม่เกิน 15% ตกกิโลกรัมละ 8,000 กว่าบาท” นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวว่า วงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้ในปีหน้าต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มของราคาพืชผลการเกษตรในช่วงปีงบประมาณหน้า ที่จะเป็นปัจจัยนำมาสู่การคิดคำนวณว่าเงินส่วนต่างต้องใช้เท่าไร แต่ทั้งหมดอยู่ที่นโยบายว่าจะให้ใส่ในงบประจำ หรือดำเนินการในรูปแบบใช้เงิน ธ.ก.ส.สำรองล่วงหน้า แล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณชดใช้ภายหลัง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด
สำหรับการส่งออกข้าว ขณะนี้เริ่มดีขึ้น ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกค่าเงินบาทแข็งมาก และไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ แต่ตอนนี้ สามารถแข่งกับคู่แข่งได้ ยอดส่งออกก็กระเตื้องขึ้นมาเยอะ เดี๋ยวนี้เดือนละ 7-8 แสนตัน และสิ้นปีนี้อาจจะไปถึงเป้าหมาย 6 ล้านตันตามที่ตั้งเป้าไว้ และอีกไม่กี่วัน อาจจะประสบความสำเร็จในการเจรจาขายข้าวหอม ข้าวคุณภาพสูงกับฮ่องกงอีกประมาณ 10,000 ตัน คาดว่าจะมีโอกาสสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในยุทธศาสตร์ข้าวที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้ให้ความเห็นชอบ มีการกำหนดเรื่องลดต้นทุนการผลิตจากไร่ละ 6,000 บาท ให้ไม่เกิน 3,000 บาท และเพิ่มผลผลิตจาก 465 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ให้ได้ รวมทั้งเพิ่มพันธุ์ใหม่ เพราะจุดอ่อนของไทย ไม่มีข้าวพันธุ์ใหม่ที่สนองความต้องการตลาดได้ ซึ่งจะเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ใน 5 ปี (2564-2567) ให้ได้ 12 พันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์ กำหนดให้มีการรายงานความคืบหน้าในที่ประชุม นบข.ทุก 3 เดือน คิดว่าต่อไปนี้ท่านนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ คงจะมีการรายงานติดตามว่าคืบหน้าถึงไหนในแต่ละเรื่อง