xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่งลุย “MR-Map” นำร่อง 4 เส้นทางลดเวนคืน กทพ.ปรับแบบด่วน “ฉลองรัช” ใช้พื้นที่ร่วมวงแหวนรอบที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เผยเสียงหนุนพัฒนาโครงข่าย MR-Map “มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่” สั่งเร่ง 4 เส้นทางนำร่อง ด้าน กทพ.-ทล.ประสานแบบเชื่อมโครงข่ายทางด่วน “ฉลองรัช-นครนายก” เฟสแรก 17 กม. กับวงแหวนรอบที่ 3 ใช้พื้นที่ร่วมลดเวนคืน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่อง จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง และเส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4-19 พฤศจิกายน 2564 ว่า มีเสียงเห็นด้วยและสนับสนุนให้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงข่ายและการเวนคืนพื้นที่เพื่อพัฒนามอเตอร์เวย์ และรถไฟทางคู่ไปพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน

ส่วนการบูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) ของ ทล.นั้น กทพ.ได้ออกแบบรายละเอียด โดยบูรณาการร่วมกับ MR-Map ตามนโยบาย ซึ่ง กทพ.จะดำเนินโครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะแรก ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบที่ 3 ระยะทาง 17 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมกับ MR10 (โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3) ของ ทล.

โดยปรับรูปแบบจากเดิมทั้ง 2 โครงการจะมีทางขึ้น-ลงแยกกันคนละตำแหน่ง เป็นก่อสร้างทางขึ้น-ลง บริเวณเดียวกันและใช้ทางแยกต่างระดับร่วมกัน (Combine Interchange) เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากการเวนคืนพื้นที่ และลดความสับสนในการเดินทางของผู้ใช้ทาง อีกทั้งทางแยกต่างระดับบริเวณดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับแนวสายทางของโครงข่าย MR3 ของ ทล.ได้ในอนาคต

ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดของงานช่วงดังกล่าว และทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย กทพ.จะเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามแผนงานต่อไป


สำหรับร่างแผนแม่บทการพัฒนา MR-Map จำนวน 10 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 6,980 กิโลเมตร เป็นการพัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง มีระยะทางทั้งหมด 4,760 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และแนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กิโลเมตร

2. เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ระยะทาง 886 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 196 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 690 กิโลเมตร

3. เส้นทาง MR3 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กิโลเมตร

4. เส้นทาง MR4 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม (ด่านนครพนม) ระยะทาง 840 กิโลเมตร

5. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ระยะทาง 832 กิโลเมตร

6. เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน)-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 96 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 294 กิโลเมตร

7. เส้นทาง MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง (มาบตาพุด)/ตราด (ด่านคลองใหญ่) ระยะทาง 467 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการแล้ว 181 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 286 กิโลเมตร

8. เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 94 กิโลเมตร

9. MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 185 กิโลเมตร

10. เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะทาง 648 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 
ส่วนที่ 1 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) เปิดให้บริการแล้ว 168 กิโลเมตร
ส่วนที่ 2 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (แผนในอนาคต) 455 กิโลเมตร และ
ส่วนที่ 3 เส้นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 25 กิโลเมตร) ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ 54 กิโลเมตร และช่วงบางปะอิน-สุพรรณบุรี 55 กิโลเมตร


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมทางหลวงจัดทำแผนการขับเคลื่อนโครงการและ Action Plan ให้ชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้รับทราบข้อมูลและแผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในด้านต่างๆ อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้กำชับประเด็นการเชื่อมโยงกับ สปป.ลาวผ่านทางจังหวัดหนองคายตามเส้นทาง MR2

โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งพัฒนาโครงการรถไฟช่วงขอนแก่น-หนองคายให้สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีนได้อย่างต่อเนื่อง และเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงให้พิจารณาเส้นทาง MR8 (ชุมพร-ระนอง) เพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีเส้นทางที่สั้นที่สุดโดยพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การพิจารณาเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อลดข้อจำกัดด้านกายภาพในการก่อสร้างท่าเรือ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียในทางเลือกต่างๆ และในประเด็นการพัฒนาแผนแม่บท MR-Map ขอให้พิจารณากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น