ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ก.คมนาคม รุกเปิดรับฟังความเห็นชาวอีสาน จัดทำแผนแม่บทการพัฒนา“โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง” ตามแนวคิดบูรณาการพัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชี้เป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เผย 4 เส้นทางมอเตอร์เวย์-ระบบราง ผ่านพื้นที่อีสานใต้ตอนล่าง
วันนี้ ( 4 พ.ย. ) ที่โรงแรมแคนทารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) พื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคตะวันออก กลุ่มที่ 1 โดยมี นายนิรันดร์ สุขรักขินสุขิณี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา พร้อม ดร.ชุมโชค นันทวิชิต ผู้จัดการโครงการงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา “โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP)” นำเสนอข้อมูลงานศึกษา
ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับทราบการพัฒนาโครงข่ายทางถนนที่ยังขาดการบูรณาการร่วมกับการพัฒนาโครงข่ายทางราง ทำให้เกิดปัญหาการเวนคืนพื้นที่ การแบ่งแยกชุมชนและขาดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาโครงข่ายทางถนนและโครงข่ายทางรางที่เน้นการพัฒนาไปในพื้นที่ชุมชนที่มีความเจริญอยู่แล้ว ทำให้จำกัดการพัฒนาเมือง ไม่มีการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ใหม่
ดร.ชุมโชค นันทวิชิต ผู้จัดการโครงการงานศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา “โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP)” กล่าวว่าตามที่ กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง ได้ว่า จ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาโครงการงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (MR-MAP) พร้อมการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของเส้นทางในโครงข่าย MR-MAP
ในการดำเนินโครงการกรมทางหลวงได้เล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดจนส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ครั้งที่ 1) ในวันนี้ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการสร้างความรับรู้ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการจากทุกภาคส่วน มาประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง และการออกแบบแนวเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับเส้นทาง MR-MAP ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคตะวันออก กลุ่มที่ 1การศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ของโครงการจะดำเนินการศึกษาให้ครอบคลุมในทุกเส้นทางตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และ ระบบราง (MR-MAP) ทั้งนี้ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ เบื้องต้น จะต้องดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทาง การออกแบบเบื้องต้น และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ที่โครงการพาดผ่าน เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้และเข้าใจ รวมทั้งสามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อโครงการสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงการศึกษาความเหมาะสมฯ ของโครงการให้มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด
ดังนั้น การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ได้เลือกแนวเส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ภาคตะวันออก มานำเสนอต่อประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1.เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี(แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงชลบุรี(แหลมฉบัง)-นครราชสีมา
2. เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี(แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น
3. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี(ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี
4.เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี(ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี(สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6) ช่วง นครสวรรค์-ชัยภูมิ-นครราชสีมา
5. เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี(ด่านพุน้ำร้อน)-สระแก้ว (อรัญประเทศ) ช่วงปราจีนบุรี-สระแก้ว (อรัญประเทศ)
ทั้งนี้ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี(แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงชลบุรี(แหลมฉบัง)-นครราชสีมา จุดเริ่มต้นโครงการที่ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จุดสิ้นสุดโครงการที่ บริเวณ ต.ด่านจาก อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ระยะทางรวม 297 กิโลเมตรโดยแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 17 อำเภอ ได้แก่ จ.ชลบุรี: อ.เกาะจันทร์ อ.บ่อทอง อ.บ้านบึง อ.หนองใหญ่ และ อ.ศรีราชา , จ.ฉะเชิงเทรา : อ.สนามชัยเขต และ อ.แปลงยาว , จ.ปราจีนบุรี: อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี และ อ.ศรีมหาโพธิ และ จ.นครราชสีมา : อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมืองนครราชสีมา อ.โชคชัย อ.ปักธงชัย และ อ.วังน้ำเขียว
การพัฒนาแนวเส้นทาง ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยใช้แนวเส้นทางตามการออกแบบของโครงการมอเตอร์เวย์ ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทล.359) และ ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง โดยเป็นแนวใหม่ทั้งคู่ แนวเส้นทาง MR2 ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-นครราชสีมา
แนวเส้นทาง MR2 ช่วงชลบุรี(แหลมฉบัง)-นครราชสีมา จะมีช่วงที่ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน มีการออกแบบให้เป็นอุโมงค์รถยนต์ จำนวน 2 แห่ง และอุโมงค์รถไฟ จำนวน 2 แห่ง
ดร.ชุมโชค กล่าวอีกว่า โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยกระทรวงคมนาคมมีแนวคิด การบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายทางรถไฟที่ใช้เขตทางพร้อมกัน 10 เส้นทาง ได้แก่ แนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และ แนวทางเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1 เส้นทาง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทความต้องการเดินทางและขนส่งของประเทศ ตลอดจนสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านคมนาคมขนส่ง จะทำให้การดำเนินงานตามแผนแม่บทโครงข่ายถนนและระบบราง มีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น