xs
xsm
sm
md
lg

จับตาพืช ศก. “กระท่อม” มาแรง “ออริจิน เทค” ลุยตลาดส่งออก ตปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายทรงกรต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออริจิน เทค จำกัด เปิดเผยว่า ออริจิน เทค ก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรค ขณะเดียวกัน พอทางออริจิน เทคได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ช่วงต้นปี 2563 พบว่าเฉพาะในเรื่องของพืชกระท่อม ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการศึกษาและวิจัยมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว แต่ว่าก่อนหน้านี้ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ปลดล็อกในเรื่องของกฎหมาย

“ก่อนที่จะมีกระแสเรื่องกระท่อม บ้านเราจะมีกระแสเรื่องกัญชง-กัญชา ทั้งหมดนี้เดิมอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ขณะเดียวกัน จากที่ทางภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมและผลักดันพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ ทำให้เราสนใจในพืชกระท่อมเป็นพิเศษเนื่องจากมีคุณสมบัติและประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการนำเอาไปทำยาลดอาการของโรคต่างๆ เช่น ลดเบาหวาน ความดันสูง ไขมัน คลายเครียดคลายความกังวล ฯลฯ”

ขณะนี้ได้มีการปลดล็อกพืชกระท่อมโดยถอดออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยสามารถปลูก ซื้อและขายในประเทศได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป ส่วน พ.ร.บ.พืชกระท่อม ก็กำลังดำเนินการผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร โดยทางสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการร่างพืชกระท่อมแล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรฐานต่างๆ มารองรับ และในอนาคตผลตอบแทนของผลผลิตจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณสารสำคัญที่อยู่ในใบกระท่อม  

“เราได้เข้าไปคุยกับหน่วยงานอุทยานวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางที่ดูแลเรื่องของการวิจัยและนวัตกรรมในหลายๆ โครงการ และถือเป็นจังหวะที่ดีเพราะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังมีโครงการที่จะทำในเรื่องของการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการผลิตพืชกระท่อม เราเลยเป็นบริษัทแรกที่เข้าไปร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตพืชกระท่อม และได้ทำพิธีลงนามความร่วมมือโครงการระหว่างออริจิน เทค และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา”

เอกชนจับมือ ม.สงขลา ร่วมพัฒนาวิจัย
สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีผู้เชี่ยวชาญและทีมนักวิจัยที่ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมมาแล้วเป็นระยะเวลานานหลายปี และได้ทำการจดสิทธิบัตรงานวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมแล้วหลายฉบับ อีกทั้งยังมีผลงานการวิจัยตีพิมพ์ระดับนานาชาติอย่างมากมายอีกด้วย จึงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางถึงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เกี่ยวกับพืชกระท่อมเป็นอย่างดียิ่ง

“เรามั่นใจว่าใบกระท่อมของเราจะเป็นใบที่มีคุณภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดในการนำใบกระท่อมไปต่อยอด ซึ่งในอนาคตจะทำให้สามารถนำใบกระท่อมไปสกัดสารมาทำยา ทำเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางออริจิน เทคได้มีการใช้งบจำนวนหนึ่งเพื่อปลูกพืชกระท่อมที่อำเภอหาดใหญ่แถวคลองหอยโข่งราว 20 ไร่ ปลูกพืชกระท่อมพันธุ์ก้านแดงประมาณ 1.5 หมื่นต้น โดยที่ขณะนี้ได้เริ่มลงแปลงปลูกพืชกระท่อมบางส่วนไปบ้างแล้ว”

ในส่วนการทำตลาดจากนี้ นายทรงกรตเปิดเผยว่า ยังคงต้องรอกฎหมายเกี่ยวกับการส่งออกก่อน ขณะที่ผลผลิตพืชกระท่อมของเราจะเริ่มเก็บได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เพื่อส่งขายให้โรงงานที่ต้องการนำใบกระท่อมไปสกัดสาร Mitragynine และสาร 7-hydroxymitragynine เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป โดยที่ขณะนี้มีอย่างน้อย 2 บริษัทใหญ่ที่ได้มาตั้งโรงงานสกัดสารแล้วในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่

บุกตลาดส่งออกกระท่อมไปต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ออริจิน เทค ยังมองไปถึงการให้ความรู้ คำปรึกษา ในเรื่องของต้นพันธุ์ที่ดีและการบริหารจัดการแปลงปลูก ตลอดจนการรับซื้อผลผลิตใบกระท่อมคุณภาพจากเกษตรกรอีกด้วย อีกทั้งการส่งออกผลิตภัณฑ์สารสกัดใบกระท่อมไปยังตลาดต่างประเทศเมื่อทางการไทยปลดล็อกกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย โดยที่ผ่านมาตลาดสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญที่มีความต้องการสูงมาก ปัจจุบันนี้คาดว่าจะมีมูลค่าสูงนับหมื่นล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ สำหรับประเทศในอาเซียนที่มีการส่งออกพืชกระท่อม จะมีอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญ
สำหรับพืชกระท่อม เป็นพืชท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย กระท่อมถือเป็นต้นไม้ยืนต้น มีอายุได้ราว 80-100 ปี สามารถสูงได้ถึง 10-15 เมตร มีลักษณะใบเดี่ยว ใบมีรสขม เฝื่อน มีสารสำคัญในใบซึ่งพบในพืชกระท่อมเท่านั้น คือ สาร Mitragynine และสาร 7-hydroxymitragynine ทั้งนี้ การผลิตพืชกระท่อม จำเป็นต้องมีแหล่งรวบรวมต้นพันธุ์และแปลงต้นพันธุ์เพื่อรองรับการวิจัยทั้งด้านต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในอนาคตอันใกล้

ขณะที่โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตพืชกระท่อม โดยความร่วมมือระหว่างออริจิน เทค กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์และทดสอบพันธุ์พืชกระท่อมของประเทศไทย 2. เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพสำหรับการรองรับการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเชิงพาณิชย์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และ 3. เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการจัดการพืชกระท่อมที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เอกชนเดินหน้าทำแผนผลิตครบวงจร

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ คือ 1. เป็นแหล่งเพาะปลูกต้นกระท่อม ที่มีรูปแบบการผลิตถูกต้องตามหลักวิชาการ และรองรับการนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ 2. มีต้นกล้าที่เติบโตภายใต้การดูแลของนักวิชาการด้านพืชโดยเฉพาะ มีการดูแลอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุม และเติบโตภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตที่ดี ทำให้ต้นกล้ามีความสมบูรณ์ และพร้อมที่จะเติบโตอย่างแข็งแรง และในการเพาะต้นกล้านี้เป็นการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกสายพันธุ์เป็นที่เรียบร้อย เป็นต้นที่มีรากแก้วแข็งแรงไม่ทำให้หักหรือล้มอย่างง่ายดาย 3. เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สามารถควบคุมการผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพได้ โดยสามารถนำไปผลิตสารสกัดที่มีคุณภาพสูงที่ได้มาตรฐาน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งการได้สาร Mitragynine ที่อยู่ในใบกระท่อมในปริมาณที่สูงจะขึ้นอยู่กับต้นพันธุ์ที่ดี วิธีการปลูก สภาพแวดล้อมของแสงแดด อากาศ และสารอาหารในดิน เป็นต้น และ 4. รองรับการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ และในเชิงพาณิชย์ต่างๆ ในอนาคต เช่น ต้นพันธุ์ ผลผลิต สารสกัด อุตสาหกรรมพืช ยา สมุนไพรไทย ด้านสุขภาพ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ ฯลฯ

ด้านสรรพคุณทางด้านยานั้น สาร Mitragynine และสาร 7-hydroxymitragynine มีสรรพคุณทางด้านยา เช่น บรรเทาอาการปวด และต้านอักเสบ มีฤทธิ์ระงับปวด โดยออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน แก้ไอ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือด ลดอาการซึมเศร้า เครียด ความกังวล และช่วยให้หลับสบายมากขึ้น ลดอาการท้องเสีย ท้องร่วง แก้ปวดท้อง รักษาโรคบิด และขับพยาธิ ใช้รักษาผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้ติดยาเสพติด และลดอาการลงแดงจากการใช้ยาเสพติด อีกทั้งเป็นยาขยัน สามารถออกกำลังกายได้ดี มีแรงทำงาน และสามารถทำงานกลางแจ้งได้นานขึ้น แต่ข้อควรระวังสำหรับการบริโภคพืชกระท่อมถ้ามากเกินไป หรือไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดโทษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้


กำลังโหลดความคิดเห็น