อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. นำคณะนักวิจัย สวทช. พร้อมด้วย คุณอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ คุณพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) และคุณอรุณพร อนุกูลไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลเนส เอเซีย จำกัด ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพ(BCG Health Tech Thailand2021)” ซึ่งจัดโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. และองค์กรพันธมิตร ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบไฮบริด อีเวนต์ (Hybrid Event) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และออนไลน์เสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี 3D เต็มรูปแบบบนช่องทาง www.healthtech-thailand.com
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดตามแผนขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมุ่งสู่เป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ในอาเซียน Medical Hub ในปี 2570 โดยการจัดงาน BCG Health Tech Thailand2021 จะเป็นเวทีเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ผู้ประกอบการด้านสุขภาพและการแพทย์ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์กว่า 100 ผลงาน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทยในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) สวทช. ซึ่งเป็นนิคมวิจัยสำหรับเอกชนแห่งแรกของประเทศ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และ องค์กรพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 50 องค์กร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) ผนึกกำลังขานรับนโยบายประเทศกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จัดงาน BCG Health Tech Thailand 2021 ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
โดยถือเป็นมหกรรมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ กิจกรรมแรกในประเทศไทยเพื่อต้อนรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีบริษัทเทคโนโลยี และ องค์กรวิจัยชั้นนำทางการแพทย์ 7 เขตเศรษฐกิจ ที่มาร่วมนำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ Mekonglink จากสาธารณรัฐเกาหลี , JIANGSU LONGHUI INTELLIGENT TECHNOLOGY จากสาธารณรัฐประชาชนจีน , National Cheng Kung University จากประเทศไต้หวัน อีกทั้งนวัตกรรมการแพทย์จาก ประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ รวมทั้งนวัตกรรมพร้อมใช้ของคนไทยและนวัตกรรมสู้ภัยโควิดจาก สวทช. มากกว่า 100 นวัตกรรม ภายในงานมีการให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจ การจำหน่ายสินค้าและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพจากผู้ประกอบการในราคาพิเศษกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ กิจกรรมเวิร์กช็อปด้านสุขภาพและการแพทย์
นอกจากนั้นแล้วเพื่อเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก ได้มีการจัดกิจกรรมและเปิดตลาดนวัตกรรมออนไลน์บน www.healthtech-thailand.com ควบคู่กันไปยาวต่อเนื่องตลอด 12 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม เป็นต้นไป) เพื่อรองรับดำเนินธุรกิจบนโลกเสมือนจริงแบบไร้ขีดจำกัด ให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการและลูกค้าจากทั่วโลก
“ผลกระทบของการเกิดโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรค COVID-19 ในปี 2563 ทำให้เกิดการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ อุปกรณ์ วัสดุทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนวิจัยและพัฒนา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน” ดร.ณรงค์ กล่าว
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมไฮไลต์ที่น่าสนใจวันเปิดงาน 8 ธันวาคม 2564 ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานและแสดงวิสัยทัศน์นโยบายด้าน Health & Wellness ของประเทศไทย และการบรรยายจาก 24 วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มี 14 หัวข้อการเสวนาอภิปราย รวมทั้งการสัมมนาในหัวข้อพิเศษ 30 หัวข้อทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ 2 วันเต็ม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อาทิ การขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และการรับมือเหตุฉุกเฉินใน ASIA Pacific และ ประเทศไทย, ทิศทางอุตสาหกรรม Health and wellness หลังการระบาด COVID19 และ แนวโน้มเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง, การขับเคลื่อนกัญชา กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยในเชิงพาณิชย์ สู่โอกาสทางการตลาดและการพัฒนาสู่ตลาดโลก
อย่างไรก็ตามการจัดงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สวทช. ในการใช้ความรู้ ความสามารถของนักวิจัย เชื่อมโยงกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศในการเร่งขีดความสามารถในการนำนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG ที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งต้องการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศ ด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย
สำหรับภายในงานแถลงข่าวดังกล่าว มีการนำผลงานวิจัยบางส่วนมานำเสนอ อาทิ วัคซีนป้องกันโควิด 19 แบบพ่นจมูก (ซึ่งสวทช. กำลังอยู่ในขั้นเตรียมการทดสอบในมนุษย์ภายในปี 2565), ชุดตรวจสำหรับการคัดกรองการติดเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรนา (NanoCOVID-19 Antigen Rapid Test), สูตรสำหรับผลิตอาหารปั่นผสมสำเร็จรูปสำหรับให้ทางสายยาง และเครื่องบินโดรนส่งยา เป็นต้น ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถติดตามรายละเอียดของงานเพิ่มเติมและลงทะเบียนฟรีได้ที่ www.healthtech-thailand.com และ www.facebook.com/healthtechthailandevent