xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.เร่งพัฒนาสถานีหนองคาย-CY นาทา รองรับปริมาณสินค้าจากจีน-ลาวสู่ ทลฉ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผู้ว่าฯ รฟท.-อธิบดีกรมศุลกากร” บูรณาการแผนโลจิสติกส์ รองรับปริมาณสินค้าจากจีน-ลาวผ่านสะพานมิตรภาพ ปรับแผนเดินรถเพิ่ม 10 ขบวน เร่งพัฒนาสถานีหนองคาย 80 ไร่ และ CY ที่นาทา เชื่อมสินค้าสู่แหลมฉบัง

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคายเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าจีน-ลาว-ไทย จากรถไฟจีน-ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ระบบรางเชื่อมระหว่างจีน-ลาว ซึ่งจะเริ่มให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ โดยได้ประชุมร่วมกับ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงานในการบูรณาการแผนงานร่วมกัน

นายนิรุฒกล่าวว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถือเป็นความสำเร็จในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบรางของทั้ง 2 ประเทศเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทย-ลาวที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ช่วงเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหนองคาย ประกอบด้วย นายด่านศุลกากรหนองคาย แขวงทางหลวงหนองคาย กองบังคับการตำรวจภูธรหนองคาย และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย ในการทดลองขบวนรถไฟขนส่งสินค้าความยาว 25 แคร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟช่วงหนองคาย-ท่านาแล้งอีกด้วย

ในปี 2564-2565 มีการเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากเดิมวันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ) เป็น 10 ขบวนไป-กลับ พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ช่วงปี 2566-2568 จะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปจะเพิ่มขบวนรถเป็น 24 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ซึ่งไม่รวมขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศที่เดิมปกติมีให้บริการวันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ)

“การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างไทย-ลาว จากสถานีหนองคายถึงลานตู้สินค้า ท่านาแล้ง สปป.ลาว จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ”

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ยังมีแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และพื้นที่ CY หรือศูนย์รวบรวมและเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีรถไฟนาทาเพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่ ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากท่าเรือแหลมฉบังมายังสถานีหนองคาย และต่อขยายถึงที่ลานตู้สินค้าที่ท่านาแล้ง สปป.ลาวได้โดยตรง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในอนาคต

ทั้งนี้ แผนพัฒนาย่านสถานีหนองคายจะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีทั้งหมด 80 ไร่ รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ระบบรางเชื่อมโยงภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพระบบขนส่งในภูมิภาค สร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล












กำลังโหลดความคิดเห็น