xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ถก ปธ.วุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (แฟ้มภาพ)
รมว.คมนาคม ต้อนรับประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ หารือกระชับความร่วมมือ ผลักดันไทยศูนย์กลางคมนาคมอาเซียน พัฒนาการลงทุนแลกเปลี่ยนความรู้

วันนี้ (4 พ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายอเล็กซ์ คูเพรชท์ (H.E. Mr.Alex Kuprecht) ประธานวุฒิสภาสมาพันธรัฐสวิส พร้อมด้วย นายเบเนดิกท์ เวือร์ท (Mr.Benedikt WÜrth) วุฒิสมาชิก และว่าที่ประธานคณะกรรมการรัฐสภาสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free TradeAssociation: EFTA) และคณะ ร่วมด้วย นางเฮเลน บุดลีเกอร์ อาร์ทีเอดา (H.E. Mrs.Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของวุฒิสภา ระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2564 โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมการขนส่งทางราง และ การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องราชรถ กระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงโอกาสการกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างประเทศไทย และสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันครบรอบ 90 ปี ในปีนี้ รวมทั้งหารือถึงบทบาทคมนาคมขนส่งของไทยที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ผ่านความเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างภูมิภาคเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงการสำคัญ ดังนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ EEC ของประเทศไทย โดยการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก รวมทั้งการขยายเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 เพื่อเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การบูรณาการระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟทั่วประเทศ (Motorway and Railway Master Plan :MR-MAP) โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge ชุมพร-ระนอง) แผนพัฒนาระบบรางของประเทศไทยทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่

นอกจากนี้ ได้หารือถึงโอกาสด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการลงทุนและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาระบบคมนาคมระหว่างสองประเทศ ทั้งอุตสาหกรรมระบบราง การพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืน แนวทาง การสร้างอุโมงค์เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างเมือง การเชิญชวนนักลงทุนชาวสวิสเซอร์แลนด์มาร่วมลงทุนในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น