“ศักดิ์สยาม” พบ “ทูตอิตาลี” เผยสนใจร่วมพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมชวนนักลงทุนอิตาลีร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย
วันที่ 20 ต.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ H.E. Mr. Lorenzo Galanti เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าพบและหารือในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการระบบรางของไทย โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายประภัทรเผ่า อาวะกุล ผู้อำนวยการกองต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้หารือในหลายประเด็น
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) ให้ความสนใจโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งในรูปแบบเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน
ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น ได้แจ้งถึงความคืบหน้า โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ในรูปแบบ PPP คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 12 เดือน (มิถุนายน 2564-พฤษภาคม 2565) พร้อมกันนี้ รายงานเป้าหมายและความก้าวหน้าการยกระดับโครงข่ายระบบรางในเส้นทางอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าการพัฒนารากฐานระบบรางของไทยเชื่อว่าภาคเอกชนอิตาลีจะสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้อีกมาก
ในด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในระดับภูมิภาคนั้น กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอการพัฒนาโครงข่ายที่สำคัญของไทย เช่น โครงการ Land Bridge (Chumphon Ranong) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศในประเทศ และโครงการศึกษาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองภายใต้กรอบแผนแม่บท MR-MAP (Motorways + Rails) เป็นต้น โดยได้เชิญชวนภาคเอกชนอิตาลีที่มีศักยภาพเข้าร่วมลงทุน โดยยืนยันความพร้อมของไทยในการสร้างเสริมความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ทางเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมวิสัยทัศน์แนวคิดการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Land Bridge ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายที่สำคัญให้แก่ภูมิภาคเอเชียได้ในอนาคต และประชาสัมพันธ์ข่าวสารกับภาคเอกชนด้านโครงสร้างพื้นฐานของอิตาลีต่อไป
สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งนโยบายที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ใกล้จะถึงนี้ และการถอดบทเรียนการปรับตัวการใช้ชีวิตของประชาชนหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในอิตาลี