xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ถังแตก! สั่งหั่นค่าลงทุน-ค่าใช้จ่ายผู้บริหาร ลดขาดทุนปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.ถังแตก สั่งลดค่าใช้จ่ายปี 65 ต่อ หั่นค่ารับรอง ค่าน้ำมัน รถประจำตำแหน่ง โอที ผู้บริหาร งด-ชะลอลงทุนที่ไม่จำเป็น “นิตินัย” เผยกู้ 2.5 หมื่นล้านเสริมสภาพคล่อง คาดปี 65 ผลดำเนินงานยังไม่คุ้มทุน 

แหล่งข่าวจาก บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ ทอท.ลดลงในปี 2563 และปี 2564 ซึ่ง ทอท.ได้มีมาตรการควบคุมและลดการลงทุน รวมถึงลดค่าใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 สามารถลดค่าใช้จ่ายลง 10,948 ล้านบาท หรือ 30.2% จากค่าใช้จ่ายที่ตั้งไว้ประมาณ 36,282 ล้านบาท ส่วนปี 2564 เดิมตั้งค่าใช้จ่ายไว้ที่ 33,723 ล้านบาท ประหยัดได้  9,889 ล้านบาท หรือลดลง 29.3%

ล่าสุด ทอท.ได้มีนโยบายในปี 2565 ว่าจะยังคงมีมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายต่อไป แม้ว่าจะมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ก็ตาม เนื่องจากคาดว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวยังมีน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปกติ และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

โดยค่าใช้จ่ายที่จะมีการปรับลด ประกอบด้วย 1. การลงทุนให้ลด ชะลอ หรือยกเลิกรายการงบลงทุนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ยกเว้นการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และที่ไม่กระทบต่อการให้บริการและมาตรฐานความปลอดภัย

2. ด้านพนักงาน ให้ชะลอการบรรจุทดแทนพนักงานเกษียณอายุ เสียชีวิต ลาออก ให้ออก ปลดออก โดยบรรจุทดแทนเฉพาะกรณีภารกิจจำเป็นเกี่ยวกับบริการและมาตรฐานความปลอดภัย ทั้งนี้รวมถึงลูกจ้างด้วย 

3. พนักงานตั้งแต่ระดับ 7 ขึ้นไปงดเบิกค่าล่วงเวลา ส่วนพนักงานทั่วไปให้ทำงานล่วงเวลาเท่าที่เหมาะสม จำเป็น, จัดฝึกอบรมภายในเป็นหลัก 

4. ระดับผู้บริหาร ลดสิทธิเบิกค่ารับรองลง 50% ซึ่งผู้บริหารระดับ 9 (ผู้อำนวยการฝ่ายที่มีตำแหน่ง) จะได้รับ 10,000 บาท/เดือน หรือระดับ 10 (ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่, รองผู้อำนวยการท่าฯ, ผู้อำนวยการท่าฯ เชียงราย, ผอ.ท่าฯ เชียงใหม่) 15,000 บาท/เดือน ระดับ 11 (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ผอ.ท่าฯ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต) 20,000 บาท/เดือน

ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงผู้บริหารตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปที่ได้รับรถประจำตำแหน่ง ลดลง 20% โดยตามสิทธิ์ตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปจะได้สิทธิ์ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 200 ลิตร/เดือน และยกเลิกสิทธิ์เบิกค่าทางด่วนของผู้บริหาร 

สำหรับสัญญาจ้างหรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นสุดสัญญา ให้พิจารณาเจรจาแก้ไขสัญญาปรับลดค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน, เร่งจัดทำข้อเสนอขอยกเว้นการจ่ายค่าตอบแทนการใช้ที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ เพื่อยกเว้นการจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำ (minimum Guarantee) สำหรับสนามบินดอนมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต และค่าตอบแทนตามมูลค่าทรัพย์สิน (Return on Asset ) ที่สุวรรณภูมิในปี 2565 

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ ทอท.ได้
รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 2563 ส่วนปีงบประมาณ 2564 ได้รับกระทบทั้งปี ทำให้มีผลขาดทุนเป็นครั้งแรก ส่วนงบประมาณปี 2565 ซึ่งช่วง 4 เดือนแรกเป็นฤดูท่องเที่ยว แต่ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารยังไม่มาก แม้จะเปิดประเทศแต่เชื่อว่าจะไม่สามารถกอบกู้ผลดำเนินงานปี 2565 ขึ้นมาได้ แต่คาดว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมการบินจึงจะกลับมาสู่ภาวะปกติ  

ทั้งนี้ ทอท.จะดำเนินการกู้เงิน 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น บมจ.ธนาคารกรุงไทย 20,000 ล้านบาท และธนาคารออมสิน 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานปี 2565 โดยในส่วนของกรุงไทยจะเริ่มใช้ในส่วนสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 ทั้งนี้ คาดว่าหากการบินอาจจะกลับมา และหากมีรายได้เริ่มเข้ามาเพียงพอต่อรายจ่ายก็จะไม่ต้องกู้ในส่วนของออมสิน 5,000 ล้านบาท  

“ปี 62 ก่อนเกิดโควิด ทอท.มีผู้โดยสารรวม 140 ล้านคน ปี 63 ซึ่งผลประกอบการไม่ขาดทุน โดยผู้โดยสารลดลงเหลือประมาณ 72 ล้านคน มีสัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่  55% ภายในประเทศประมาณ 45% ดังนั้น หากกลับไปที่ระดับผู้โดยสารและสัดส่วนระหว่างประเทศกับในประเทศที่ 55:45 จึงจะคุ้มทุน แต่ประเมินว่าปี 65 คาดว่าทั้งปียังไม่คุ้มทุน” 


กำลังโหลดความคิดเห็น