กรมเจ้าท่าปรับปรุงท่าเรือปากเมง จ.ตรัง เสร็จใน พ.ย.นี้ เปิดประตูสู่อันดามันรับเปิดประเทศ เพิ่มศักยภาพได้ถึง 90,000 คนต่อปี เชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือ “วงแหวนอันดามัน” ในอนาคต
กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการปรับปรุงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรังว่า ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 99 คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรังภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้
กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุง ท่าเรือปากเมง จ.ตรัง เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในจังหวัดตรัง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในหมู่เกาะทะเลตรัง เช่น เกาะมุก เกาะรอก เกาะเชือก เกาะไหง เกาะกระดาน และเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเกาะลันตา เกาะพีพี หาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ในปี พ.ศ. 2562 ก่อนสถานการณ์โรคติดต่อ Covid-19 ท่าเรือปากเมง มีผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวใช้งานจำนวน 67,000 คนต่อปี คาดว่าในปี 2564 นี้หลังปรับปรุงท่าเรือฯ แล้วเสร็จจะมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 90,000 คนต่อปี
การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือฯ สืบเนื่องมาจากอายุการใช้งานของท่าเรือที่มีมากกว่า 20 ปี ทำให้ท่าเรือฯ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการได้ กรมเจ้าท่าได้ทำการว่าจ้างที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาออกแบบเพื่อปรับปรุงท่าเรือให้มีความแข็งแรง รูปแบบเหมาะสม สวยงาม โดยในขั้นตอนการศึกษาออกแบบโครงการได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน พร้อมทำโครงการศึกษาร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จต้องขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ และเห็นควรให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือเช่นเดิม สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นของท่าเรือปากเมง คือขนาดท่าเรือฯ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้มาใช้บริการ สะพานท่าเรือคับแคบ ไม่มีอาคารพักคอยผู้โดยสาร ความลึกร่องน้ำไม่เพียงพอและมีสภาพค่อนข้างตื้นเขิน ท่าเรือยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น บันไดขึ้น-ลงเรือ หลักผูกเรือและยางกันชนเรือ โครงสร้างท่าเรือชำรุดทรุดโทรม ระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยเฉพาะหน้าท่าและสะพานท่าเรือ ระบบน้ำประปา ระบบขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบขนย้ายสินค้า ไม่มีพื้นที่สำหรับจอดเรือและรถยนต์ ส่งผลให้เกิดความแออัดของการจราจรทางบกในช่วงเทศกาล
กรมเจ้าท่า โดยกองวิศวกรรม จึงได้มีโครงการศึกษาวางแผนและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือฯ ให้มีฟังก์ชันการใช้งานสมบูรณ์ครบถ้วน พื้นที่ท่าเรือฯ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โครงสร้างมีความมั่นคง แข็งแรง พื้นที่ด้านหน้าท่าสามารถรองรับเรือเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย พื้นที่ด้านหลังท่าเรือฯ เพิ่มพื้นที่การใช้สอยครบถ้วนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว การออกแบบท่าเรือเป็นสไตล์ Tropical modern โดยการสร้างสเปซที่โปร่งโล่งขนาดใหญ่ด้วยเส้นสายการออกแบบที่เรียบง่าย คำนึงถึงสภาพอากาศและภูมิประเทศเป็นปัจจัยหลัก ผสานกับบริบทสภาวะแวดล้อมธรรมชาติของเขาเมงที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังท่าเรือปากเมง ซึ่งจะรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม พร้อมเชื่อมโยงการเดินทางในอนาคต ด้วยการลงเครื่องบิน ต่อรถ ลงเรือ ไปท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆ ในจังหวัดตรัง เกิดเป็นเส้นทางการเดินเรือ “วงแหวนอันดามัน” ในอนาคตได้
สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่าที่มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับ ดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรือให้สอดคล้องกับการใช้งานพร้อมมีมาตรฐานความปลอดภัย