xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านคนไทยประชารัฐเชียงใหม่”เข้าโค้งท้ายกระบวนการEIAรอเคาะเดินหน้าสร้างห้องชุด1,170ยูนิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่
เชียงใหม่-โครงการบ้านคนไทยประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่เดินหน้าเข้าสู่กระบวนช่วงโค้งสุดท้ายการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียผ่านไปด้วยดี และรวบรวบข้อเสนอแนะทำการปรับปรุงเตรียมเสนอสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติฯ พิจารณาเคาะอนุมัติก่อสร้างอาคารห้องชุด 1,170 ยูนิต

ภาพจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ตามที่กรมธนารักษ์โดยจังหวัดเชียงใหม่เปิดประมูลให้เอกชนลงทุนจัดสร้างและบริหารโครงการที่อยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ชื่อโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” ในที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.1746 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 15ไร่ 96 ตารางวา ติดกับศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบริษัทเชียงใหม่รายวัน จำกัด ชนะการประมูล ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาโครงการ ที่ประกอบด้วยอาคารห้องพักอาศัยรวม ขนาด 8 ชั้น สูง 22.40 เมตร จำนวน 7 อาคาร จำนวน 1,170 ห้อง ห้องละ 28 ตารางเมตร และอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น อีก 2 อาคาร จำนวน 10 คูหา

โดยโครงการมีการเปิดให้ประชาชนจองห้องพักอาศัย ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2562 กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่เกินเดือนละ 35,000 บาท ก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งปรากฏว่าประชาชนให้การตอบรับอย่างดีและมีการจองเกือบเต็ม ในราคาห้องละ 699,000 บาท วันจองชำระ 3,000 บาท วันทำสัญญาภายใน 30 วัน ชำระอีก 4,500 บาท และผ่อนเดือนละ 4,500 บาท อีก 14 เดือน ยอดค้างชำระที่เหลือผ่อนกับธนาคารออมสิน หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ไม่เกิน 4,500 บาท ต่อเดือนระยะเวลา 30 ปี

อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 แล้ว ทางโครงการยังไม่มีการก่อสร้างแต่อย่างใด โดยยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการของการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.64 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ก.ค.64 ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ถูกตั้งข้อสังเกตหลายอย่างจากภาคประชาชนและเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่า โดยเฉพาะความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐในพื้นที่เชิงดอยสุเทพที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ประเพณีและความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ รวมทั้งผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากโครงการที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่น และ EIA ที่เพิ่งทำหลังจากที่เปิดจองโครงการไปนานนับปีแล้ว

นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง
นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ประสานงานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่และปริมณฑลภาคประชาสังคม และที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการในจังหวัดเชียงใหม่ มีความเป็นห่วงกังวลใจและคัดค้านโครงการนี้ที่จะมีการก่อสร้างอาคารสูงและห้องชุดที่อยู่อาศัย จำนวน 7 อาคาร 1,170 ห้อง บนพื้นที่เชิงดอยสุเทพ ดังนั้นทางคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่และปริมณฑลภาคประชาสังคม จึงได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ชะลอและทบทวนโครงการบ้านคนไทยประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่ บนที่ดินราชพัสดุดังกล่าว

ทั้งนี้เห็นว่าพื้นที่เชิงดอยสุเทพนั้น มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งมีคุณค่าทางจิตใจและมีทัศนียภาพที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ ตลอดจนมีความสำคัญทางธรรมชาติและระบบนิเวศน์ ซึ่งหากมีการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นที่โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ หวั่นเกรงว่าจะเป็นการทำลายคุณค่าดังกล่าวและระบบนิเวศน์เชิงดอยสุเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของการยื่นเสนอให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก เพราะเชื่อแน่ว่าด้วยความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างแน่นอน เช่น ปัญหาการจราจร, ปัญหาขยะ หรือน้ำเสียที่เชื่อมโยงลำน้ำสาขาย่อยและไหลลงสู่คลองแม่ข่าที่ทุกภาคส่วนกำลังพยายามเร่งฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศน์อย่างเข้มข้น

โดยผู้ประสานงานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่และปริมณฑลภาคประชาสังคม และที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า เบื้องต้นทางภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและนักวิชาการมีข้อเสนอต่อโครงการบ้านคนไทยประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่ว่าเห็นควรให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการโดยลดขนาดความสูงของอาคารลงเหลือไม่เกิน 12 เมตรตามเจตนารมย์ของกฎหมายผังเมือง และเหลือห้องพักอาศัยไม่เกิน 300 ยูนิต เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ดำเนินควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่าไม่ได้ หรือหาพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า อย่างไรก็ตามยังไม่มีการปรับปรุงรูปแบบโครงการแต่อย่างใด ทำให้ต้องมีการยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้ชะลอและทบทวนโครงการดังกล่าว


ขณะเดียวกันนางเสาวคนธ์ ระบุว่า โครงการบ้านคนไทยประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่มีการเปิดให้ประชาชนจองซื้อห้องพักในโครงการตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ซึ่งมีการนำเสนอข่าวว่าผลตอบรับดีและถูกจองเกือบหมด อย่างไรก็ตามการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพิ่งมีการจัดขึ้นช่วงกลางปี 2564 นี้เอง จึงตั้งข้อสังเกตว่าโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เช่นนี้ควรจะมีการทำจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะเปิดขายหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุ

พร้อมกันนี้ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความสูงของอาคารตามโครงการนี้ที่สูง 22.40 เมตร ซึ่งได้รับยกเว้นตามกฎหมายให้สร้างได้ แต่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับเจตนารมย์ของกฎหมายผังเมืองกำหนดควบคุมความสูงอาคารที่ก่อสร้างในบริเวณพื้นที่โดยรอบไว้ไม่เกิน 12 เมตร ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาโครงการใดๆ บนที่ดินราชพัสดุนั้น ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามเจตนารมย์ของกฎหมายมากกว่า โดยหากการขอทบทวนโครงการดังกล่าวไม่เป็นผล ทางภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเชียงใหม่ รวมทั้งเครือข่ายเตรียมที่จะพิจารณายื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป เพื่อหวังให้เป็นบรรทัดฐานในการที่ธนารักษ์จะมอบพื้นที่ราชพัสดุให้เอกชนใช้พัฒนาโครงการต่างๆ

นอกจากนี้นางเสาวคนธ์ มองว่า การจัดทำโครงการนี้ที่อ้างว่าเพื่อเปิดโอกาสให้คนมีรายได้น้อยหรือคนจนมีที่อยู่อาศัยนั้นก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากการจ่ายเงินจอง 3,000 บาท ผ่อนดาวน์เดือนละ 4,500 บาท 14 เดือน และยื่นกู้ธนาคารผ่อนไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท ระยะเวลา 30ปี นั้น เป็นสิ่งที่เกินกำลังคนจนจะผ่อนชำระได้ ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดแล้วที่อยู่อาศัยตามโครงการนี้จะตกไปอยู่ในมือของคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่คนจนหรือคนมีรายได้น้อย และอาจถูกนำไปเก็งกำไรด้วย ขณะที่ทำเลที่ตั้งก็อยู่ห่างออกจากตัวเมืองและไม่มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับ เท่ากับเป็นเพิ่มภาระค่าเดินทางให้ด้วย ซึ่งหากรัฐต้องการให้คนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองจริงๆ ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีก เพราะในตัวเมืองเชียงใหม่ยังมีที่ดินว่างเปล่าของรัฐอยู่หลายผืน ที่สามารถทำโครงการที่อยู่อาศัยขนาดย่อมและกระจายหลายจุดเพื่อคนจนได้หากตั้งใจจะทำจริงๆ .

ภาพจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่

ขณะที่ทางด้านเจ้าของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงว่า โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่15-0-96 ไร่สภาพปัจจุบันเป็นพื้นที่ว่างรกร้างระหว่างศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ฝึกวิชาทหารมณฑลทหารบกที่33 ไมมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติรายรอบด้วยหน่วยงานราชการเป็นส่วนใหญ่โดยทิศหนือติดกับศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ทิศใต้ติดกับศูนย์ประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ทิศตะวันออกติดกับทางหลวง 121 (ถนนคันคลองชลประทาน) และทิศตะวันตกติดกับศูนย์ฝึกวิชาทหารมณฑลที่33

จากการสำรวจพื้นที่ภายในรัศมี2กิโลเมตรรอบโครงการโดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม ไม่พบร่องรอยหลักฐานใดๆ ของแหล่งโบราณคดีโบราณสถาน และศาสนสถาน อยู่ห่างจากแหล่งประวัติศาสตร์-โบราณคดีสำคัญในบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพของเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างมากกล่าวคือไกลจากเมืองเวียงเชียงใหม่ประมาณ6 กิโลเมตร ไกลจากเวียงเจ็ดลินประมาณ4-5กิโลเมตร ไกลจากเวียงกุมกามประมาณ 9-10 กิโลเมตร และโบราณสถานที่ใกล้ที่สุด ได้แก่วัดเจ็ดยอดตำบลช้างเผือกซึ่งห่างประมาณ 4 กิโลเมตรดังนั้นโครงการฯดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อทัศนียภาพ ศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ในภาพรวม โดยหากนำเขตเมืองเก่าเชียงใหม่มาพิจารณาเป็นสำคัญแล้วจะพบว่าโครงการฯอยู่ห่างไกลจากย่านศิลปะวัฒนธรรม โบราณสถาน วัดร้าง วัดที่มีสงฆ์ประจำแหล่งประวัติศาสตร์และความคับคั่งของการคมนาคม

จังหวัดเชียงใหม่จึงได้มีแนวคิดจัดให้มีเขตกันชนระหว่างเขตเมืองเก่ากับบริเวณพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่
(Buffer Zone) โดยขยายออกจากเนื้อที่ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเรื่อง ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558ออกไปอีก5.505 ตารางกิโลเมตร จัดให้มีการศึกษาจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ใน ปีงบประมาณ 2562 มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาให้สอดคล้องกับเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเรื่องประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ลงวันที่13 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และขยายเขตกันชน (Buffer Zone) จากเขตประกาศพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ออกไปอีกเน้นในเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 5.505 ตารางกิโลเมตรตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ลงวันที่ 26 พฤษภาคมพ.ศ. 2558และขอบเขตพื้นที่เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า(Buffer Zone) ตามข้อเสนอของคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นมรดกโลกซึ่งเชื่อมต่อกันแบ่งเป็น 4 ทิศ รวม เนื้อที่ 4.98 ตารางกิโลเมตรต่อมาคณะที่ปรึกษาได้นำเสนอให้ขยายเขตพื้นที่เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า(Buffer Zone) ไปทางทิศตะวันตกและทิศเหนืออีก 8.78 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมเวียงเจ็ดลิน และเวียงสวนดอก วัดเจ็ดยอด หนองบัว (แก้มลิงโบราณ) และแนวคลองแม่ข่ารวมสุทธิแล้วมีเนื้อที่รวม 19.27 ตารางกิโลเมตร หรือ 12,038 ไร่ดังนั้นโครงการฯ จึงอยู่นอกเขตเมืองเก่าและเขตที่เสนอเพื่อการอนุรักษ์มรดกโลก

ชาวบ้านในพื้นที่โครงการยื่นหนังสือสนับสนุน
โครงการบ้านคนไทย ประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มของการอพยพครอบครัวของประชาชนที่บุกรุกครอบครองสองฝั่งของ คลองแม่ข่าโดยการที่จะให้โอกาสเป็นอันดับต้น แก่ชุมชนและครอบครัวส่วนใหญ่ดังกล่าวจาก คลองแม่ข่าและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เคยเป็นหนองบัว หรือแก้มลิงโบราณของเมืองเก่าเชียงใหม่ อันเป็นชัยมงคล 7 ประการ ของเมืองเก่าเชียงใหม่จึงทำให้โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบในทางบวกต่อพื้นที่คลองแม่ข่าและหนองบัว อันเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการเข้าสู่ แนวทางการเป็นมรดกโลกตามแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ ใน ปีงบประมาณ 2562 กำหนดประเด็นสำคัญที่ศึกษาและสะท้อนความแท้และดั้งเดิมของความเป็นเมืองเก่าเชียงใหม่

ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ของสิ่งแวดล้อมทางด้านประวัติศาสตร์การอพยพครอบครัวของประชาชนที่บุกรุกครอบครองสองฝั่งของคลองแม่ข่า จะเป็นปัจจัยหลักที่ลดมลภาวะหลายมิติได้แก่ ระบบระบายน้ำ ภายในพื้นที่ ความยากต่อการแนวท่อระบาย น้ำฝน น้ำเสียและน้ำทิ้ง ระบบการหน่วงน้ำ รวมทั้งจุดที่ระบายน้ำออกสู่สถานบำบัดน้ำเสีย การเกิดความไม่สวยงามจากบ้านเรือนที่แออัด ขยะทั้งปกติและขยะตกค้างสารพิษที่ทิ้งลงคลองแม่ข่า มิติทางสังคมแห่งความขัดแย้งระหว่างชุมชนเมืองกับกลุ่มผู้อาศัยในพื้นที่รอบคลองแม่ข่า การขาดระบบป้องกันอัคคีภัยที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่อย่างสะดวก และมิติทางประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งต่อการแนวทางการเตรียมการเข้าสู่เงื่อนไขการขอเป็นมรดกโลก ตามแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ ใน ปีงบประมาณ2562 และตามข้อเสนอของคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นมรดกโลก

โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่มีพื้นที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เรื่องประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และขยายเขตกันชน (Buffer Zone) จากเขตประกาศพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ออกไปอีก เน้นในเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ เนื้อที่ประมาณ 5.505 ตารางกิโลเมตร ตามประกาศคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558และขอบเขตพื้นที่เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า (Buffer Zone) ตามข้อเสนอของคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นมรดกโลก

ชาวบ้านในพื้นที่โครงการยื่นหนังสือสนับสนุน

ชาวบ้านในพื้นที่โครงการยื่นหนังสือสนับสนุน
จากภาพรวมของโครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลกดังกล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าที่ตั้งของพื้นที่โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่ค่อนข้างอยู่ไกลจากแหล่งมรดกศาสนสถานและแหล่งโบราณคดีของเมืองประวัติศาสตร์เชียงใหม่โดยภาพรวมค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบและความเกี่ยวข้องใดๆ กับขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลกรวมทั้งช่วยลดปัจจัยลบต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกด้วย

เมื่อนำหลักการของมีการสำรวจ4 รูปแบบ ได้แก่การสำรวจปริมาณจราจรบนช่วงถนน (Mid-Block ClassifiedTraffic Count: MB) การสำรวจปริมาณจราจรบริเวณทางแยก (Turning Movement Count: TMC) การสำรวจความล่าช้าบริเวณทางแยก (Intersection Delay Survey: ID) และการสำรวจเวลาในการเดินทางบนโครงข่าย (Travel Time Survey: TT) พออนุมานได้ว่า บริเวณตัวเมืองเชียงใหม่จะมีปริมาณการจราจรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงชั่วโมงเร่งด่วนรถส่วนมากเดินทางจากชานเมือง (Suburb areas) เข้าสู่แหล่งกิจกรรมหลักภายในเมืองเชียงใหม่ เช่น สถานที่ราชการ สถานศึกษา และสถานที่ราชการกับที่ทำงานของเอกชนและตลาดต่างๆในตัวเมืองที่อยู่รอบคูเมือง ทำให้เกิดความล่าช้าในทางแยกต่างๆในช่วงประมาณ 30นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยทางแยกที่เป็นการตัดกันระหว่างถนนใหญ่จะมีความล่าช้ามากกว่าเป็นส่วนใหญ่สำหรับความเร็วเฉลี่ยของถนนในเมืองในช่วงเร่งด่วนประมาณ 10 - 20 กม./ชม

จากแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนที่ประกอบ และจากกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 2555 (ราชกิจจานุเบกษา 21 พฤษภาคม 2555 หน้า 1 เล่ม 130ตอนที่ 43 ก)ทำให้เห็นว่ามีการขยายถนนสี่เลนและสร้างถนนวงแหวนโดยรอบเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่การเชื่อมอำเภอรอบนอกชั้นชานเมืองและภายในตัวเมืองชียงใหม่ ดังนั้น โครงการฯ จะมีส่วนทำให้เกิดความหนาแน่นในพื้นที่ไม่มากเกินไปหลักการของมีการสำรวจ4 รูปแบบ เพราะผู้อยู่อาศัยสามารถเดินทางเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ในระยะประมาณ 10กิโลเมตร โดยใช้ถนนสายคลองชลประทาน และถนนโชตนาหรือ ย้อนเข้าถนนวงแหวนรอบ 3ผ่านด้านบนของอุโมงค์ทางลอด สายแม่ริม-สันทรายได้

โดยใน ปีพ.ศ. 2565จะเริ่มดำเนินการโครงการรถไฟรางเบา เป็นรถไฟฟ้า 3 เส้นทางโดยมีรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในเขตเมืองเชียงใหม่รองรับหลายประเภท เช่นรถเมล์เทศบาลนครเชียงใหม่รถสาธารณะระหว่างเมืองเชียงใหม่ รถสองแถวสี่ล้อแดง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถสามล้อ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถจักรยานสาธารณะ และประกอบกับการเติบโตของจังหวัดเชียงใหม่เป็นการเติบโตขยายเมืองและที่อยู่อาศัยที่พึ่งพาระบบถนนและยานพาหนะส่วนบุคคลเป็นหลักทำให้เกิดการพัฒนาแบบUrban Sprawl Development ที่เป็นการพัฒนาตามแนวถนนเกิดการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

แต่ผู้อาศัยในโครงการฯนี้มีจำนวนไม่มากพอที่จะเพิ่มความเสี่ยงสูงเป็นปัจจัยด้านลบก่อให้เกิดผลกระทบด้านอากาศ ที่เกิดจากมลพิษจากยานพาหนะผลกระทบด้านเสียงที่เกิดจากการคมนาคมก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ผลต่อสุขภาพจิตผลกระทบด้านการสั่นสะเทือนจากยานพาหนะมีการวิ่งผ่านผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้บริเวณรอบแนวก่อสร้างของโครงการฯ ซึ่งโครงการฯ เองจำเป็นต้องตระหนักถึงการลดและควบคุมผลกระทบที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้

ภาพจากเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อทำการตรวจสอบกับข้อมูลทุติยภูมิได้แก่ นโยบายรัฐบาล, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 -2580), แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) และกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) แผนพัฒนาภาค พ.ศ. 2560 - 2565 (ฉบับทบทวน) แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (พ.ศ. 2561 - 2565) ฉบับทบทวน ปี 2565, แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2561 - 2565) ฉบับทบทวนรอบปีพ.ศ. 2565, แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ (พ.ศ. 2563-2567) ยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2566 – 2570) กับยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่(พ.ศ. 2566 – 2570) ที่เน้นการบำบัดทุกช์บำรุงสุขของปวงประชาด้วยการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

พบว่ามีความสอดคล้องของการพัฒนาโครงการฯ กับนโยบาย ทิศทางของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวม (แผนที่ประกอบ) ดังกล่าวข้างต้นโดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development Goals-SDGs) อย่างน้อย 12 เป้าหมาย ตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้โดยUN คือ กลุ่มที่ 1 เรื่องของ การขจัดความยากจน ขจัดความอดอยากสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดีพร้อมกลุ่มที่ 2 เรื่องของสุขาภิบาลและน้ำสะอาด และการมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอ กลุ่มที่ 3 เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคล และชุมชน สร้างให้เกิดชุมชนเมืองที่ยั่งยืน และการผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ

เป้าหมายสำคัญของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า ของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีจำนวนถึง 2,594 ครัวเรือน (ข้อมูลจากแผนแม่บทพัฒนาคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่) ดังนั้นโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่ จึงสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะเวลา 20 ปี ที่เป็นสิ่งสำคัญในการให้ประเทศไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในระยะยาวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมียุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านที่มีเป้าหมายเพื่อ(1) เพิ่มและพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์(2) ให้ความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม(3) เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน(4) ส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(5) เสริมสร้างเสถียรภาพของชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและความยั่งยืน (6) เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐและส่งเสริมธรรมาภิบาล


โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่ ยืนยันเป็นโครงการที่สนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองเชียงใหม่ พัฒนาที่อยู่อาศัยและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า ของจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ตั้งของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เชียงใหม่ เดิมเป็นพื้นที่ว่างรกร้างเป็นพื้นที่เว้นขาวซึ่งไม่ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่พ.ศ. 2555 โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. 2548 และไม่ได้อยู่ในความปกครองดูแลของกองทัพบก ความสูงของอาคารไม่เกินข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย การออกแบบโครงการมีความสูงน้อยกว่าอาคารของเอกชนและอาคารของภาครัฐที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ไม่ได้อยู่ติดกับเชิงดอยสุเทพ โดยมีศูนย์ฝึกวิชาการทหาร มณฑลทหารบกที่ 33 คั้นอยู่ดังนั้นความสูงของอาคารในโครงการฯ ไม่เกิน 23 เมตร จึงสอดคล้องกับผังเมืองและข้อกฎหมายที่กำหนด และจากการตรวจสอบความสูงของอาคาร พบว่ามีความสูงต่ำกว่าอาคารรายรอบที่สูงมากกว่า 23 เมตร

การออกแบบและวางผังตัวอาคารไม่ขวางกั้นทิศทางลม มีการออกแบบพื้นที่สีเขียวเพียงพอตามเกณฑ์ข้อกำหนดของแผนปฏิบัติการเชิงนโยบายด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน และข้อกำหนดของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลูกพรรณไม้ตามความเหมาะสมและไม้พื้นถิ่นของจังหวัดเชียงใหม่
บริเวณพื้นที่ตั้งโครงการมีระบบสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ รองรับอย่างเพียงพอ เช่นน้ำประปา ไฟฟ้าโดยมีหนังสือยืนยันขีดความสามารถให้บริการจากการประปาส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว ส่วนขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นภายในโครงการจะมีห้องพักมูลฝอยรวมที่มิดชิด ป้องกันกลิ่น และสัตว์นำโรคและโครงการฯ จะจัดจ้างบริษัทเอกชนที่ขึ้นทำเบียนอย่างถูกต้องเข้ามาเก็บขนไปกำจัดที่บ่อฝั่งกลับขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่สร้างภาระให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก

ระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ เลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียรวมแบบเติมอากาศ มีการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ซึ่งเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับหน่วยงานขนาดใหญ่ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบแยกประจำอาคารที่มีการใช้อย่างแพร่หลายสำหรับอาคารต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะมีการเก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจคุณภาพทุกเดือน เพื่อส่งให้หน่วยงานกำกับควบคุม เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลช้างเผือก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานนโยบายและแผน

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งน้ำที่ผ่านการบำบัดและตรวจสอบว่ามีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วจะถูกนำมาใช้รดน้ำสนามหญ้าและต้นไม้ภายในโครงการฯ และบริเวณศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร จึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วสู่แหล่งน้ำสาธารณะน้ำฝนที่ตกภายในพื้นที่โครงการฯ จะถูกรวบรวมแยกจากน้ำเสีย เก็บกักในบ่อหน่วงน้ำฝนของโครงการ ก่อนที่จะค่อย ๆ ระบายออกสู่ท่อระบายน้ำริมทางหลวงหมายเลข 121 (ถนนคันคลองชลประทาน)จึงเป็นการรับประกันได้ว่าโครงการฯ และพื้นที่โดยรอบจะไม่เกิดน้ำท่วมขัง อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นน้ำสำรองในการดับเพลิงภายในโครงการได้
ภายในพื้นที่โครงการฯ ได้จัดให้มีหัวรับน้ำดับเพลิงประจำแต่ละอาคาร รวม 10 จุด มีถนนกว้างเพียงพอที่รถดับเพลิองจะสามารถเข้าระงับเหตุกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อีกทั้งได้มีการตรวจสอบศักยภาพกับสถานีดับเพลิงบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ว่ามีอุปกรณ์เจ้าหน้าที่ ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ และสามารถเข้าระงับเหตุกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว มีแผนการซ้อมดับเพลิงเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และได้ประสานกับหน่วยผจญเพลิงแล้ว

สำหรับพื้นที่จอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีจำนวนมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มากกว่าโครงการที่มีลักษณะเดียวกัน และยังได้ประสานงานกับศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือเพื่อเป็นที่จอดรถสำรองในอนาคต มีทางเข้าออกเป็นของส่วนโครงการโดยเฉพาะ จากการประเมินการจราจรของทางหลวงหมายเลข121 (ถนนคันคลองชลประทาน) และทางร่วมทางแยก พบว่าการจราจรอยู่ในระดับคล่องตัวมาก เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 121 ได้ถูกออกแบบให้รองรับการใช้ประโยชน์ของศูนย์ประชุมนานาชาติจัวหวัดเชียงใหม่และศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือไว้แล้ว โดยอาจมีการชะลอตัวตามจังหวัดของไฟสัญญาณจราจร จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่โครงการ ระบุว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยโครงการจะจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโครงการ ช่วยให้สัญญาณการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้าและเย็น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนในพื้นที่ ป้องกันอุบัติเหตุและป้องกันการทำผิดกฎจราจรด้วย


สำหรับการจัดทำรายงานกาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการบ้านคนไทยประชารัฐได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2562 เป็นต้นมา และได้ส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จังหวัดเชียงใหม่พิจารณาครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2563 จากนั้นโครงการฯ ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะปรับปรุง เพิ่มเติมโครงการ ตามความเห็นของ คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยให้สอดคล้องกับข้อกำหนด หลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ มีความเป็นเหตุเป็นผลของการดำเนินการ เพิ่มกระบวนการประชาสัมพันธ์จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในรูปแบบเข้าพบตามบ้าน (Knock door) ใช้แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์(Questionnaire) การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) การประชุมใหญ่ (Public Meeting) จนกระทั่งรวบรวม สรุป จัดทำเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมผู้ชำนาญการฯ จังหวัดเชียงใหม่ พิจารณในเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นข้อห่วงใยการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนั้น โครงการยืนยันจัดทำเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีศักยภาพจะจ่ายค่าผ่อนชำระเพื่อที่อยู่อาศัยเดือนละ 4,500 บาท ซึ่งโดยปกติที่อยู่อาศัยลักษณะเดียวกันนี้มีค่าผ่อนชำระที่สูวกว่านี้มาก อีกทั้งโครงการฯ ถูกกำหนดเงื่อนไขโดยกรมธนารักษ์ให้ขายห้องชุดให้บุคคลตามลำดับดังนี้ (1) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่อมาหากห้องชุดยังเหลือจึงจะพิจารณาขายให้(2) ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 35,000 บาทต่อเดือน และหากยังมีห้องว่างอีกจึงจะขายให้แก่ (3) ประชาชนทั่วไป โดยหลังจากการซื้อขายจากทางโครงการแล้ว สิทธิ์ในการซื้อขายห้องจะเป็นของเจ้าของห้องชุด ซึ่งพบว่าโครงการลักษณะนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย และการพัฒนาเมืองเชียงใหม่แก้ไขปัญหาเดิมที่มีในเขตเมืองเก่า




กำลังโหลดความคิดเห็น