ผู้จัดการรายวัน 360 - ซีอาร์จีเดินเกมรบยุคโควิดระบาด เปิดแผนรุกเคเอฟซีสู้ตลาดไก่ทอดตกลงกว่า 15% ประสานงานกับยัมฯ ต่อเนื่อง รุกหนักดีลิเวอรีสัดส่วนเพิ่มเป็น 30% แล้ว ปีนี้ขยายสาขาต่อเนื่องไม่มีชะลอกว่า 20 สาขา พร้อมขยายทำเลใหม่ๆ เช่น ออฟฟิศ สถาบันการศึกษา ดึงธุรกิจในเครือเสริมทัพในร้านเคเอฟซี ประเดิมเครื่องดื่ม “KFC Cafe’ by Arigato”
นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นจากปี 2563 เล็กน้อยเพียง 1.4-2.6% (อ้างอิง : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) โดยการเปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นเคยกับการสั่งอาหารผ่านช่องทางดีลิเวอรีมากขึ้น ปี 2564 นี้จึงยังคงเป็นปีที่ท้าทายของตลาด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ทุกแบรนด์ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะในแง่ของอาหาร ช่องทางการตลาด รวมถึงช่องทางการขายก็เปลี่ยนไป
ส่วนช่องทางที่เป็นช่องทางที่โตขึ้นมามากจากปี 63 คือช่องทางดีลิเวอรี ที่มีการแข่งขันกันมากในตลาด เพราะแทบจะเป็นช่องทางเดียวที่ทุกแบรนด์จะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์โควิด และการล็อกดาวน์ โดยจะเห็นได้จากการแข่งขันกันในด้านโปรโมชันที่ค่อนข้างรุนแรงในทุกๆ แบรนด์
สำหรับตลาดรวมไก่ทอดนั้นมีมูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท กลับเป็นตลาดที่ตกลงอย่างมากกว่า 15% ตั้งแต่ปีที่แล้ว จากสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และปิดศูนย์การค้าไม่สามารถนั่งรับประทานในร้านได้ แม้ว่าจะมีช่องทางดีลิเวอรีมาช่วยและเติบโตมากก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทดแทนช่องทางหลักที่นั่งรับประทานในร้านได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วตลาดไก่ทอดจะเติบโต 8-10% ต่อปีมาตลอด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ไปหลายมาตรการ และเริ่มมีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยได้บ้างแล้ว อีกทั้งยังเป็นช่วงใกล้สิ้นปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาลความสุขและการจับจ่าย จึงเชื่อมั่นว่าจากนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมและตลาดไก่ทอดน่าจะเริ่มกลับมาพลิกฟื้นดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว สังเกตได้ว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมมาเริ่มดีขึ้นจนถึงขณะนี้ตลาดกลับคืนมามากกว่า 70-80% แล้ว
นายปิยะพงศ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเคเอฟซีของซีอาร์จีนั้น ในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน รวมทั้งมีการประสานงานกันอย่างดีกับทางยัมเรสเตอรองตส์ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ จึงทำให้เคเอฟซีสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างดี
“โควิด-19 ส่งผลต่อยอดขายแบรนด์เคเอฟซีในช่วง Q1-Q3 ของปี 64 จากที่ได้ประมาณการไว้ จึงปรับแผนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ อาทิ การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เน้นการเข้าถึงลูกค้าในช่องทางออนไลน์และดีลิเวอรีมากขึ้น เนื่องด้วยยอดการสั่งดีลิเวอรีในช่วงที่ผ่านมาเติบโตกว่า 30% และขณะนี้ทุกร้านเกือบ 100% ก็ว่าได้ของเคเอฟซีของเราสามารถดีลิเวอรีได้แล้ว จากเดิมมีเพียงแค่ 20-30% เท่านั้น ทำให้สัดส่วนรายได้จากดีลิเวอรีของเรามีถึง 30% แล้วจากเดิมมีแค่ 15% รวมถึงการโฟกัสบริการที่ตอบโจทย์วิถี New Normal อาทิ การให้บริการผ่าน Drive Thru ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งยังมีบริการ Self-Pick up คือให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันเพื่อมาถึงร้านก็สามารถรับสินค้าได้เลย ไม่ต้องรอ ซึ่งนอกจากจะสะดวกและรวดเร็วแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสบายใจให้ลูกค้าที่ไม่ต้องการอยู่ในร้านนานๆ อีกด้วย” นายปิยะพงศ์กล่าว
ในส่วนของการตลาดออนไลน์ในช่องทางดีลิเวอรี ก็ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการส่งอาหาร (Food Aggregators) ชั้นนำของประเทศทุกราย อีกทั้งยังมีช่องทาง Call Center 1150, Application KFC และเว็บไซต์ www.kfc.co.th อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น QSR (Quick Service Restaurant) ที่มีสัดส่วนการตลาดใหญ่ที่สุดในทุกๆ แพลตฟอร์ม ส่วนการตลาดออฟไลน์จะมุ่งเน้นการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าโดยเฉพาะการที่ลูกค้ามารับประทานอาหารที่ร้านมากขึ้นตั้งแต่การตกแต่งร้าน เมนูใหม่ๆ ที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ลูกค้า รวมถึงโปรโมชันที่จะทำให้ลูกค้าเข้าถึง เคเอฟซีได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ซีอาร์จียังขยายสาขาเคเอฟซีต่อเนื่อง โดยปีนี้เปิดใหม่มากถึง 18-20 สาขาในทุกรูปแบบ ซึ่งปกติเปิดเฉลี่ย 25-30 สาขา ปีนี้เปิดแล้วประมาณ 15 สาขา เช่นที่เซ็นทรัลศรีราชา และเตรียมเปิดที่เซ็นทรัลอยุธยา เป็นต้น สำหรับสาขาล่าสุดที่เซ็นทรัลศรีราชาถือเป็นสาขาที่ 300 ภายใต้การบริหารของซีอาร์จี ส่งผลให้ปัจจุบันซีอาร์จีมีร้านเคเอฟซีที่อยู่ในศูนย์การค้าประมาณ 50 สาขา, ในไฮเปอร์มาร์เกต 100 กว่าสาขา, ในคอมมูนิตีมอลล์ 30 กว่าสาขา และในปั๊มน้ำมันกับไดรฟ์ทรู 40 กว่าสาขา
แผนการขยายสาขาจะมีโมเดลใหม่ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า อีกทั้งยังเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ และเอื้ออำนวยต่อธุรกิจในรูปแบบใหม่ซึ่งก็คือดีลิเวอรีและออมนิแชนเนล โดยจะเน้นการเจาะไปที่มหาวิทยาลัย, อาคารสำนักงาน เพื่อเสิร์ฟความอร่อยให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และพนักงานออฟฟิศ แบบถึงที่ รวมทั้งตอบโจทย์ urban lifestyle ด้วยบริการ self-pick up ที่ลูกค้าสามารถสั่งผ่านมือถือได้ล่วงหน้า แล้วแวะมารับที่ร้านเพื่อความรวดเร็ว โดยในปีนี้ (2564) ขยายสาขาเพิ่มขึ้น 8% และแผนของปี 2565 ตั้งเป้าเปิดจำนวน 30 สาขา หรือประมาณ 10% ของจำนวนสาขาเดิม
สำหรับร้านเคเอฟซีที่บริหารโดยซีอาร์จี สาขาที่ 300 ที่เซ็นทรัลศรีราชานี้ เราปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ด้วยการประยุกต์ Local Art and Crafts และกลิ่นอายของทะเลศรีราชาเข้าไปที่มุมด้านในของร้าน โดยเลือกใช้คลื่นทะเลที่ให้ความเป็นศรีราชา ผสมผสานเข้ากับความเป็นเอกลักษณ์ของเคเอฟซีได้อย่างลงตัว และยังคงมีความทันสมัยด้วยมุมถ่ายรูปเก๋ๆ ให้ได้แชร์ลงโซเชียลมีเดีย เพื่อที่จะเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างตัวแบรนด์ เคเอฟซี กับกลุ่มลูกค้าของเราให้ได้มากยิ่งขึ้น และให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศรีราชา ที่ตั้งใจจะให้เป็น destination ของการพักผ่อนหย่อนใจของชาวศรีราชา
นายปิยะพงศ์กล่าวถึงการใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ด้วยว่า ได้มีการผนึกกำลังกันของแบรนด์ในเครือซีอาร์จีเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยต่อยอดแบรนด์แฟรนไชส์ กับแบรนด์ในเครือให้เติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน ร่วมมือกันเปิดตัว “KFC Cafe’ by Arigato” ด้วยจุดแข็งของเคเอฟซี คือ เมนูไก่ทอด ซึ่งเน้นการขายแบบอาหารมื้อหลัก และอาริกาโตะ แบรนด์เครื่องดื่มนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีจุดเด่นในเรื่องเครื่องดื่มกาแฟและชาเขียวที่มีคุณภาพระดับพรีเมียม โดยการร่วมมือกันเปิดตัว “KFC Cafe’ by Arigato” จะสามารถช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญด้านเครื่องดื่มให้กับทางเคเอฟซี อีกทั้งช่วยสร้างการรับรู้ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแบรนด์อาริกาโตะให้กับลูกค้าทั่วประเทศได้ทั่วถึงและเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปี 64 นี้จะมีจำนวนสาขา “KFC Cafe’ by Arigato” กว่า 220 สาขา