xs
xsm
sm
md
lg

แบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว! บอร์ด ทอท.เคาะเลื่อนเปิด SAT-1 เป็น เม.ย. 66 เซฟกว่า 300 ล้าน/เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด ทอท.เคาะเปิดอาคาร SAT-1 สุวรรณภูมิเป็น เม.ย. 66 เลื่อนจากแผนเดิมปี 65 “นิตินัย” เผยเปิดเร็วไม่คุ้มค่าใช้จ่ายกว่า 300 ล้าน/เดือน คาดปี 66 ผู้โดยสารจะกลับมาประมาณ 80% เมื่อเทียบกับขีดความสามารถของอาคารหลักที่รับได้ 45 ล้านคน/ปี จึงเปิดใช้ไม่ให้แออัด

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)  เปิดเผยว่า การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี และการก่อสร้างอาคารและระบบ APM จะแล้วเสร็จสมบูรณ์เดือน ก.ค.-ส.ค. 2565 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. วันที่ 20 ก.ย. 2564 ได้มีมติกำหนดการเปิดให้บริการอาคาร SAT-1 ในเดือน เม.ย. 2566 โดยประเมินว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีปริมาณผู้โดยสารกลับมาอยู่ในระดับ 80% เมื่อเทียบกับขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารหลักที่รองรับได้ 45 ล้านคน/ปี หรือมีผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านคน/ปี จึงเป็นช่วงเหมาะสมในการเปิดใช้อาคาร SAT-1 เนื่องจากอาคาร SAT-1 มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการประมาณ 331 ล้านบาท/เดือน หรือราว 4,000 ล้านบาท/ปี ดังนั้นจึงควรเปิดใช้เมื่อมีจำนวนผู้โดยสารที่มากพอในการสร้างรายได้ให้เกิดความคุ้มค่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย  

ทั้งนี้ อาคาร SAT-1 วางแผนจะเปิดใช้งานเพื่อแบ่งผู้โดยสารมาจากอาคารผู้โดยสารหลักของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน ซึ่งตามแผนเดิมจะเปิดให้บริการเดือน เม.ย. 2565  

โดยอาคาร SAT-1 เป็นอาคารที่อยู่ในเขตพื้นที่การบิน (Airside) จะให้บริการผู้โดยสารขาออกที่ได้ทำการเช็กอินและโหลดกระเป๋าสัมภาระ ณ อาคารผู้โดยสารหลักเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นผู้โดยสารเดินเข้าไปในเขต Airside ตรงไปยังด้านหลังเกษียรสมุทร บริเวณชั้น 4 Concourse D และลงไปยังสถานีรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคาร SAT-1 ในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า เมื่อลงเครื่องแล้วต้องลงไปยังชั้น B2 เพื่อนั่งรถไฟฟ้า APM มายังอาคารผู้โดยสารหลักไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า และจุดรับกระเป๋าสัมภาระต่อไป ส่วนผู้โดยสารต่อเครื่อง (Transit/Transfer Passenger) จะสัญจรเฉพาะระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 เท่านั้น  

ทั้งนี้ ปัจจุบันอาคาร SAT-1 ซึ่งรวมถึงส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการทำงานร่วมกันของแต่ละระบบ และทดสอบเดินรถไฟฟ้า APM (System Demonstration) ในส่วนของระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการติดตั้ง และเชื่อมต่อกับระบบเดิม โดยสำหรับรถไฟฟ้า APM จะให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักและอาคาร SAT-1 ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 นาที และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชั่วโมง 
 
สำหรับอาคาร SAT-1 มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 เป็นชั้นของสถานีขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 สำหรับผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 เป็นร้านค้า และร้านอาหาร โดยอาคาร SAT-1 มีหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด แบ่งเป็นอากาศยานแบบ Code E จำนวน 20 หลุมจอด และแบบ Code F จำนวน 8 หลุมจอด AOT ได้ออกแบบอาคารโดยการต่อยอดสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนกับอาคารเทียบเครื่องบินเดิม โดยหลังคาตรงกลางของอาคารจะถูกยกให้สูงขึ้นกว่าส่วนอื่นๆ เป็นลักษณะเลียนแบบการไล่ระดับหลังคาเป็นชั้นๆ ในสถาปัตยกรรมไทย 

และภายในอาคารได้ติดตั้งประติมากรรมช้างเผือก “คชสาร(น)” ซึ่งช้างถือเป็นสัตว์ท้องถิ่นประจำชาติไทย โดยติดตั้งไว้บริเวณโถงกลางทำให้เกิดเป็นจุดหมายตาแรกของอาคาร รวมถึงห้องน้ำในบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ได้มีการออกแบบ โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก อีกทั้งยังได้นำเอาเอกลักษณ์หรือลักษณะเด่นในแต่ละภาค ประเพณีวัฒนธรรม เช่น ประเพณีลอยกระทง มวยไทย เป็นต้น มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของพื้นที่และช่วยให้ผู้โดยสารจดจำพื้นที่ง่ายขึ้น ตลอดจนมีการตกแต่งสวนประดับที่บริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ให้เป็นสวนแนวตั้งเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย 
 












กำลังโหลดความคิดเห็น