รฟท.รับฟังเสียงนักลงทุน PPP สายสีแดง เล็งสัมปทาน 50 ปี เหมา 6 เส้นทาง เปิดเงื่อนไขจูงใจหลังเซ็นสัญญา 2 ปีแรกให้สิทธิ์รับรู้รายได้สีแดงเข้มและอ่อนก่อนเริ่มนับอายุสัญญา ปั้นรายได้เชิงพาณิชย์ 9.1 หมื่นล้าน ค่าโดยสาร 12-42 บาท ปรับ 3% ทุก 2 ปี
วันที่ 26 ต.ค. 64 นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting เพื่อนำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษาภาพรวมของโครงการ ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาคเอกชน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากนักลงทุนภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 93 หน่วยงาน จำนวน 181 คนเข้าร่วมการสัมมนา
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดแผนการเดินรถเบื้องต้นที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทาง ครอบคลุมการเดินรถไฟทุกประเภทของ รฟท.ที่จำเป็นจะต้องใช้ทางวิ่งร่วมกัน โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถไปตามลักษณะการดำเนินโครงการเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรูปแบบการเดินรถของโครงการจะมีช่วงที่ให้บริการขนานกับเส้นทางการเดินรถของ รฟท.ในส่วนของรถธรรมดาและรถชานเมืองบริเวณช่วงสถานีดังกล่าว
ระยะที่ 2 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยในระยะการเปิดส่วนต่อขยายช่วงต่างๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ รฟท.บางส่วนในช่วงสถานีที่ให้บริการซ้ำซ้อนกับสถานีของโครงการ หรืออาจจะจอดให้บริการที่สถานีเชื่อมต่อหลักเท่านั้น
ระยะที่ 3 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จการเดินรถจะเป็นการให้บริการระบบรถไฟชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ รฟท.ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมาช่วงต่อการให้บริการรถชานเมืองจากการรถไฟฯ ทั้งหมด
ที่ปรึกษาได้นำเสนอการศึกษารถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งประกอบด้วย 6 เส้นทาง โดยมีมูลค่าการลงทุน 3 ส่วน ได้แก่
1. ค่าลงทุนงานโยธางานระบบ และจัดหาขบวนรถ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 188,155.58 ล้านบาท แบ่งเป็น สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งรัฐได้ลงทุนไปแล้ว 108,833.01 ล้านบาท ส่วนที่กำลังจะลงทุนอีก 79,322.57 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก, ช่วงรังสิต -มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช
2. ค่าลงทุนการดำเนินงาน และบำรุงรักษา กำลังจะลงทุน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 131,073.74 ล้านบาทประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อ-รังสิต, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช
3. มูลค่าลงทุนงานเพิ่มเติม กำลังจะลงทุน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 21,044 ล้านบาท ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อ-รังสิต, ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช
ขณะที่การศึกษาได้ประมาณการผู้โดยสาร (Ridership Forecast) ในปี พ.ศ. 2564 สายบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 99,060 คน/เที่ยว/วัน, ในปี พ.ศ. 2575 ซึ่งเปิดให้บริการทั้ง 6 เส้นทาง จะมีจำนวนผู้โดยสาร 500,400 คน/เที่ยว/วัน และในปี พ.ศ. 2620 จะมีจำนวนผู้โดยสาร 1,322,340 คน/เที่ยว/วัน เป็นต้น
โดยแหล่งรายได้จองโครงการมาจาก 2 ส่วน คือ รายได้ค่าโดยสาร ซึ่งจากการประเมินค่าโดยสารที่มีอัตราแรกเข้าเริ่มต้น 12 บาท บวก 2.10 บาท/กม. เพดานอัตราสูงสุดที่ 42 บาท/เที่ยว และปรับขึ้นค่าโดยสารทุกๆ 2 ปีครั้งละ 3% และรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ พื้นที่ในสถานี และรอบสถานี ยกเว้นสถานีกลางบางซื่อ โดยประเมินว่าสัมปทาน 30 ปีจะมีรายได้ 32,183 ล้านบาท กรณีสัมปทาน 50 ปีจะมีรายได้ 91,455 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยผลการวิเคราะห์แสดงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน ดังนี้ 1. ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100% 2. ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100% 3. ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก สัดส่วนการลงทุนรัฐคิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 4. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐคิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 5. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สัดส่วนการลงทุนรัฐคิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% 6. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช สัดส่วนการลงทุนรัฐคิดเป็น 90.36% และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%
โดยพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุนที่ 50 ปี โครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินในภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ -0.54% FIRR (%) คิดเป็นมูลค่า -159,154.49 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 0.44 B/C Ratio ซึ่งหากใช้รูปแบบการลงทุนที่แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐ 90.36% และเอกชน 9.64% จะมีผลตอบแทนโครงการ 8.62 IRR (%) คิดเป็นมูลค่า 9,670.51 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 1.08 B/C Ratio และมีระยะคืนทุน 29 ปี หากพิจารณาการร่วมลงทุน 30 ปี (ปี 2567-2597) กรณีที่ดีที่สุดของรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มี IRR ที่ 3.92% NPV (883.88) ล้านบาท และมีระยะคืนทุนมากกว่า 30 ปี
นอกจากนี้ โครงการจะดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมีรูปแบบให้ผลตอบแทนแก่เอกชน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. Net Cost คือ เอกชนจัดเก็บรายได้ ดำเนินการเดินรถ และซ่อมบำรุง และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐ หรือรับเงินสนับสนุน
2. Gross Cost คือ รัฐจัดเก็บรายได้ ส่วนเอกชนดำเนินการเดินรถ และซ่อมบำรุง และรัฐจะจ่ายค่าเดินรถอัตราคงที่ และ
3. Modified Gross Cost คือ รัฐจัดเก็บรายได้ ส่วนเอกชนดำเนินการเดินรถ และซ่อมบำรุง และรัฐจะจ่ายค่าเดินรถอัตราคงที่ รวมทั้งโบนัส
@เปิดเงื่อนไขจูงใจหลังเซ็นสัญญา 2 ปีแรกให้สิทธิ์เข้าบริหารสีแดงเข้มและอ่อน รับรู้รายได้โดยยังไม่เริ่มนับอายุสัญญา
รฟท.จะทำ Market Sounding ครั้งที่ 2 ในเดือน เม.ย. 2565 และคาดว่ารายงานผลการศึกษาจะแล้วเสร็จเดือน พ.ค. 2565 และคาดว่าจะประกวดราคา PPP เดือน มิ.ย. 2565-ก.ค. 2566 (กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 เดือน) คาดว่าจะได้เอกชนร่วมลงทุนในเดือน ส.ค. 2566 ซึ่งเอกชนเข้าร่วมลงทุน ลงนามสัญญา โดยในช่วง 2 ปีแรกเอกชนจะถ่ายโอนดิวดิลิเจนซ์เพื่อเข้าบริหารเดินรถสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต และสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน และรับรู้รายได้ก่อนเป็นผลประโยชน์เพิ่มเติมให้เอกชน โดยจะเริ่มนับอายุสัญญาหลังจากเซ็นสัญญา 2 ปี หรือประมาณไตรมาส 4 ของปี 2569 ซึ่งประเมินว่าจะมีรายได้ในปีแรก 1,892 ล้านบาท และค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนปี 2599 รายได้จะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท