xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่อยุธยา สั่งเร่งฟื้นฟูแก้ถนนน้ำท่วมซ้ำซาก ทช.ตั้งงบ 1.5 พันล้านซ่อม 101 เส้นทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ “อยุธยา” น้ำท่วมถนน 13 เส้นทาง สั่ง ทช.เร่งซ่อมสาย อย.3011 แก้ท่วมซ้ำซาก ด้าน ทช.เผยถนน 217เส้นทางที่ถูกน้ำท่วมกลับสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือ 29 เส้นทาง พร้อมตั้งงบ 1.5 พันล้านบาทซ่อมแซมฟื้นฟูชุดแรก 101 เส้นทาง

วันนี้ (21 ต.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนใน 6 ตำบล จำนวน 2,500 ครัวเรือน พร้อมกับตรวจเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย บริเวณทางหลวงชนบทสาย อย.3011 และทางหลวงชนบท อย.3020 ซึ่งเกิดการชำรุดเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งได้สั่งการให้กรมทางหลวงชนบทเร่งดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อยภายในปี 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานว่า สายทาง อย.3011 แยก ทล.347-บ้านโคก อ.บางปะอิน, บางไทร, บางบาล ถูกน้ำท่วม เนื่องจากเป็นสายทางที่เป็นแนวคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 บางช่วงจึงมีการนำดินมาทำเป็นคันกั้นน้ำเพื่อให้ประชาชนกว่า 16 ตำบล 1,514 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวสามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้

ทช.ได้รับมอบถนนสาย อย.3011 จากกรมชลประทาน ซึ่งถนนนั้นมีระดับต่ำ ทำให้ถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง ประกอบกับการออกแบบเริ่มต้นรองรับน้ำหนักที่ 18 ตัน ขณะที่ถนนของ ทช.จะออกแบบรองรับน้ำหนักได้ 25 ตัน ทำให้ผิวทางมีการชำรุด อีกทั้งเป็นเส้นทางหลักผ่าน อ.บางบาล อ.เสนา อ.บางไทร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการใช้เส้นทาง

ทั้งนี้ ทช.มีแผนในการซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพถนนสาย อย.3011 พร้อมกับแก้ปัญหาถนนไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยจะยกระดับถนนให้สูงขึ้น และก่อสร้างเป็นถนนมาตรฐานกว้าง 7 เมตร ไหล่ทาง 1.5 เมตร ซึ่งเบื้องต้นจะเสนอขอใช้งบกลางประมาณ 40 ล้านบาทดำเนินการ จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

@ ถนน ทช. 217 เส้นทางกลับสู่ภาวะปกติ เหลือ 29 เส้นทางยังน้ำท่วม

จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” และพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่จนทำให้น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก มีน้ำท่วมขังและกัดเซาะถนนจนชำรุดเสียหาย ส่งผลให้ถนนของกรมทางหลวงชนบทได้รับความเสียหายในพื้นที่ 46 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 281 เส้นทาง ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติ 217 เส้นทาง ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ 64 เส้นทาง สัญจรผ่านได้ 35 เส้นทาง สัญจรผ่านไม่ได้ 29 เส้นทาง

@ตั้งงบ 1.5 พันล้านบาทซ่อมฟื้นฟู 101 เส้นทาง

ส่วนของเส้นทางที่ระดับน้ำลดแล้ว ทช.จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อฟื้นฟูสายทางที่เกิดอุทกภัย ครั้งที่ 1 จำนวน 101 เส้นทาง งบประมาณ 1,513.160 ล้านบาท
สำหรับโครงข่ายทางหลวงชนบทที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามี 13 เส้นทาง ระดับน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 4 เส้นทาง ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ 9 เส้นทาง แบ่งเป็นสัญจรผ่านได้ 7 เส้นทาง สัญจรผ่านไม่ได้ 2 เส้นทาง เนื่องจากมีระดับน้ำท่วมสูง คือบริเวณเชิงลาดคอสะพานวัดอินทาราม (อย.026) อ.บางบาล และสะพานข้ามแม่น้ำน้อย (อย.019) อ.เสนา โดยได้เข้าดำเนินการแก้ไขติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยง และจัดเตรียมอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตรายแก่ประชาชน โดยสายทางที่น้ำลดแล้ว ทช.ได้ขอรับการสนับสนุนงบกลางฟื้นฟู (ครั้งที่ 1) จำนวน 7 เส้นทาง วงเงิน 116.250 ล้านบาท โดยกำชับให้การออกแบบต้องคำนึงถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ

พื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีโครงข่ายทางหลวงชนบทได้รับผลกระทบ 2 เส้นทาง เข้าสู่ภาวะปกติแล้วทั้ง 2 เส้นทาง ปัจจุบันยังไม่พบความเสียหาย ทช.จะเข้าดำเนินการสำรวจออกแบบเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณฟื้นฟูต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทช.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ในเบื้องต้นได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการซ่อมแซมเส้นทางที่ประสบอุทกภัยหลังจากระดับน้ำลดลง โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3-5 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ตามปกติ รวมถึงให้อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งป้องกันเหตุให้ผู้ใช้รถใช้ถนน และให้เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยการเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด หากเกิดภัยพิบัติให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งแก้ไขให้การจราจรใช้การได้ในทันที อีกทั้งให้เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ สะพานเบลีย์ เครื่องจักร และยานพาหนะ เพื่อพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงานในกรณีถนนหรือสะพานขาด

นอกจากนี้ ต้องติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ พร้อมทั้งตั้งจุดให้บริการประชาชน จัดรถ Mobile Service ช่วยเหลือประชาชน และจัดรถบรรทุกไว้บริการรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานผลการดำเนินงานมายังกระทรวงคมนาคมรับทราบทุกวัน












กำลังโหลดความคิดเห็น