xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.จัดรถ 2,638 คันรองรับเดินทางช่วงหยุดต่อเนื่อง 21-24 ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขสมก.จัดรถบริการ 2,638 คันรองรับการเดินทางช่วงวันหยุดต่อเนื่อง 21-24 ต.ค. 64 และเดินรถเชื่อมต่อสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง และสถานี บขส. ย้ำมาตรการป้องกันโควิดเข้มข้น 

นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคกลาง และเลื่อนวันหยุดชดเชย วันปิยมหาราช จากวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ส่งผลให้มีวันหยุดต่อเนื่องจำนวน 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 21-24 ตุลาคม 2564 ขสมก.จึงจัดแผนการเดินรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัย และรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางในช่วงวันหยุดดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 21-24 ตุลาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ในเส้นทางปกติ จัดรถออกวิ่ง เฉลี่ยวันละ 2,638 คัน จำนวน 14,618 เที่ยว

2. จัดเดินรถ AIRPORT BUS เชื่อมต่อท่าอากาศยาน จำนวน 5 เส้นทาง รวม 50 คัน ดังนี้
- สาย A1 ท่าอากาศยานดอนเมือง-สถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร เฉลี่ยวันละ 16 คัน
- สาย A2 ท่าอากาศยานดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เฉลี่ยวันละ 12 คัน
- สาย A3 ท่าอากาศยานดอนเมือง-สวนลุมพินี เฉลี่ยวันละ 8 คัน
- สาย A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง-สนามหลวง เฉลี่ยวันละ 8 คัน
- สาย S1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-สนามหลวง เฉลี่ยวันละ 6 คัน

3. จัดเดินรถเชื่อมต่อสถานีขนส่งกรุงเทพ จำนวน 4 สถานี รวม 33 เส้นทาง ดังนี้
- สถานีขนส่งกรุงเทพ (จตุจักร) จำนวน 12 เส้นทาง ได้แก่ สาย 3, 16, 49, 77, 96, 134, 136, 138, 145, 509, 517, และ 536
- สถานีขนส่งกรุงเทพ (เอกมัย) จำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ สาย 2, 23, 25, 71, 72, 501, 508 และ 511
- สถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ สาย 66, 79, 511, 515, 516 และ 556
- สถานีรถไฟหัวลำโพง จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ สาย 4, 7, 21, 25, 34, 73 และ 501

สำหรับมาตรการความปลอดภัยด้านพนักงาน มีดังนี้

1. กำกับดูแลพนักงานขับรถโดยสารให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร ดูแลการขึ้น-ลงของผู้ใช้บริการอย่างใกล้ชิด ให้บริการด้วยความสุภาพเรียบร้อย

2. ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้งก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร พร้อมทั้งกำชับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร

3. ให้พนักงานขับรถตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสาร และอุปกรณ์ส่วนควบ ก่อนนำรถออกให้บริการ ประสานผู้รับเหมาซ่อมรถตรวจเช็กสภาพรถโดยสาร และซ่อมบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ตามมาตรฐานคุณภาพบริการ ISO 9001 : 2015

4. จัดพนักงานนายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษประจำจุด ณ ป้ายหยุดรถโดยสารที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และดูแลการขึ้น-ลงรถของผู้ใช้บริการ

ด้านรถโดยสารประจำทาง
1. เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่าน

2. ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น

3. ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” บริเวณหลังเบาะที่นั่ง และบริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร สำหรับให้ผู้ใช้บริการสแกนผ่านโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนเพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง กรณีตรวจพบผู้ติดเชื้อใช้บริการรถโดยสารคันเดียว และเวลาเดียวกันกับผู้ใช้บริการจะมีการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS ว่าผู้ใช้บริการมีความเสี่ยงให้รีบไปพบแพทย์

4. ติดตั้ง QR Code แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บริเวณผนังด้านข้างภายในรถโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการใช้โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว

5. ติดตั้งป้ายข้อความ “เหลือรถอีก 2 คันสุดท้าย” “เหลือรถอีก 1 คันสุดท้าย” “รถคันสุดท้าย” บริเวณกระจกด้านหน้ารถโดยสารที่วิ่งให้บริการ 3 คันสุดท้ายในแต่ละวัน

ในส่วนมาตรการผู้ใช้บริการ จะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะใช้บริการรถโดยสาร ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่ติดตั้งบริเวณประตูทางขึ้น ควรสแกน QR Code แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” บนรถโดยสาร เพื่อเช็กอินเมื่อขึ้นรถ และเช็กเอาต์ก่อนลงจากรถ สำหรับผู้ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก.ทุกประเภท ควรลงทะเบียนบัตรที่ www.bmta.co.th เพื่อให้บัตรดังกล่าว สามารถเช็กอิน-เช็กเอาต์โดยอัตโนมัติ เมื่อนำบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์มาแตะที่เครื่อง EDC เพื่อชำระค่าโดยสาร

นอกจากนี้ ควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อตอบแบบสอบถามประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และลงทะเบียน




กำลังโหลดความคิดเห็น