นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ปรับเวลาห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 23.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.64 และผ่อนคลายมาตรการสำหรับการขนส่งสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) และการขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักร ให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของยานพาหนะและสภาพการเดินทาง รวมทั้งจัดให้เว้นระยะห่าง และปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด พิจารณาจัดการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อความจำเป็น และตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชน
ประกอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พิจารณาปรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็น 23 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 30 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 24 จังหวัด จึงออกคำสั่งกรมฯ เรื่องขยายการบังคับใช้และปรับมาตรการการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและคำสั่งของ ศบค. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติ ดังนี้
การให้บริการรถโดยสารประจำทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางระหว่างจังหวัด (หมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง หมวด 4 กรุงเทพมหานคร หมวด 2 หมวด 3) และรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีท้องที่ทำการขนส่งทั่วราชอาณาจักร ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด งดให้บริการเดินรถตั้งแต่เวลา 23.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องไปจนถึง 31 ตุลาคม 2564 ส่วนให้บริการของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 และรถโดยสารไม่ประจำทาง ในพื้นที่ควบคุมสูงสูดและเข้มงวดทุกจังหวัด ให้เป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด งดให้บริการเดินรถในช่วงเวลา 23.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้นทุกเส้นทาง จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564
สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด ให้งดการขนส่งสินค้าในช่วงเวลา 23.00-03.00 น. จนถึง 31 ตุลาคม 2564 เว้นแต่บุคคลที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์สิ่งพิมพ์ หรือสินค้าเพื่อการส่งออกหรือนำเข้า โดยจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า และการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง หมวด 4 กรุงเทพมหานคร หมวด 2 หมวด 3 และผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทางที่มีท้องที่ทำการขนส่งทั่วราชอาณาจักร สามารถรับผู้โดยสารได้ตามจำนวนที่นั่งหรือที่ยืนของรถโดยสาร โดยยังคงปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อาทิ ตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารและผู้ขับรถ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ในระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศภายในรถ และทำความสะอาดภายในตัวรถและพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ