“จุรินทร์” หนุนเพิ่มโรงงานแปรรูปทุเรียนเพื่อช่วยรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกร เพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ และเพิ่มโอกาสส่งออก ย้ำปี 65 มีการจัดทำมาตรการดูแลผลไม้เป็นการล่วงหน้าแล้ว 17 มาตรการ แต่ภาคใต้จะเพิ่มอีก 1 มาตรการ เป็น 17+1 เผยยังได้ช่วยชาวประมงปัตตานี เคาะ 5 มาตรการดูแล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมชมการผลิตและแปรรูปทุเรียน ณ บริษัทม่านกู่หวางฟู๊ด จำกัด อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ว่า ผลไม้ไทยยังมีอนาคตมากทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ตัวเลขการส่งออกผลไม้ดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะทุเรียนช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ม.ค.-ส.ค.ปีนี้ ส่งออกไปแล้ว 89,000 ล้านบาท เป็นบวกถึง 76% ที่นี่เป็นตัวอย่างของโรงงานแปรรูปทุเรียนทำทุเรียนแช่แข็ง เพื่อส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน รวมทั้งทุเรียนแปรรูปแบบฟรีซดราย เราอยากเห็นโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นมากๆ เพราะจะมีส่วนช่วยในการรับซื้อทุเรียนของเกษตรกรได้มากขึ้น และราคารับซื้อในช่วงเวลานี้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก กิโลกรัมละ 80-185 บาท ใกล้เคียงกับทุเรียนภาคตะวันออกในช่วงที่ผ่านมาเพราะเฉลี่ยทุเรียนเกรดส่งออกกิโลกรัมละประมาณ 200 บาท เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมีอนาคต เพียงแต่หัวใจสำคัญขอให้รักษาคุณภาพเพราะจะเป็นตัวช่วยนำไปสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคตทั้งการผลิต และการตลาด
“หากปลอดจากโควิด-19 แล้ว ทุกอย่างจะไปได้ดีขึ้น เพราะจะช่วยให้สามารถรับซื้อทุเรียนได้มากขึ้น ส่งออกได้มากขึ้น จะเกิดการจ้างงานมากขึ้น ที่นี่ในช่วงปัจจุบันสามารถจ้างงานได้เกือบ 1,000 คน หากมีโรงงานแบบนี้เกิดขึ้นหลายโรงจะช่วยเรื่องการว่างงาน เท่ากับในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยแก้ปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงในเวลาเดียวกันได้ด้วย”
สำหรับมาตรการส่งเสริมผลไม้เชิงรุก 17+1 ของกระทรวงพาณิชย์ที่เราเตรียมไว้สำหรับฤดูผลผลิตผลไม้ปีหน้า ซึ่งเริ่มต้นปี 2565 แต่เราเดินหน้ามาตรการเบื้องต้น ไม่รอปัญหาเกิด กำหนดไว้ 17+1 มาตรการ โดย 17 มาตรการแรกใช้เช่นเดียวกับภาคตะวันออก เช่น สนับสนุนเงินให้ผู้รวบรวมผลไม้และจำหน่ายนอกพื้นที่กิโลกรัมละ 3 บาท หรือช่วยผู้ส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 17 มาตรการ แต่สำหรับภาคใต้จะเพิ่มมาตรการที่ 18 คือ การเร่งรัดการเปิดด่านชายแดน จาก 9 ด่านที่เปิดไปแล้ว 7 ด่าน คือ ด่านตากใบ และด่านบูเก๊ะตา หากเปิดได้ในเดือน พ.ย. 2564 การส่งออกผลไม้จะไปได้ดี คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมถึงน้ำยางด้วยจะมีผลดีในการระบายผลไม้ไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ
นายจุรินทร์กล่าวว่า ยังได้พบปะสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ที่สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี ถนนนาเกลือ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีข้อสรุปใน 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง การจ่ายเงินชดเชยซื้อเรือประมงพาณิชย์ที่ดำเนินการค้างคาหลายปี เกี่ยวข้องกับการนำมาตรการ IUU มาบังคับใช้ในประเทศ มีเรือที่จังหวัดปัตตานีที่จำเป็นเข้าไปจ่ายเงินเยียวยาทั้งสิ้น 423 ลำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็นส่วนแรก จำนวน 101 ลำ จะเร่งรัดดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้ก่อน มีวงเงินขอดำเนินการ 245 ล้านบาท และจะมีการเร่งรัดนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในวันที่ 28 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ตนมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งเป็นกรรมการให้การสนับสนุน
ประเด็นที่สอง การแก้ไขพระราชกำหนดการประมงปี 2558 ซึ่งผู้ประกอบอาชีพประมงปัตตานีและชายแดนใต้ หรือทั่วประเทศ ต้องการเห็นการเร่งรัดดำเนินการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้การประกอบอาชีพประมงเดินหน้าต่อไปได้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มีการยื่นแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่การพิจารณากฎหมายใหม่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งอยู่ขั้นตอนนี้ ตนฝากสมาคมฯ ช่วยให้ความเห็นสนับสนุนต่อไปด้วย เพื่อจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
ประเด็นที่สาม ต้องการให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพาณิชย์ หลังจากขายเรือหรือจำเป็นต้องเลิกอาชีพประมงพาณิชย์ไปแล้วให้สามารถมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ซึ่งมีอยู่จำนวน 12 รายการที่ต้องการไปทำอาชีพเกษตรกรรมด้านอื่น แต่จำเป็นต้องมีที่ดินทำกิน จึงขอที่ดินทำกินไปยังนิคมสร้างตนเองจังหวัดยะลา ซึ่งเรื่องนี้จะให้ ศอ.บต.ช่วยทำต้นเรื่องไปยังกรมพัฒนาสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อช่วยพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เพราะกระทรวงฯ มีนิคมสร้างตนเองที่จังหวัดยะลาและมีที่ดินทำกินอยู่จำนวนหนึ่งที่อาจพิจารณาจัดสรรให้ได้
ประเด็นที่สี่ ผู้ค้าสัตว์น้ำหรือสินค้าประมงที่แผงค้า ของตลาดองค์การสะพานปลาตัวเมืองปัตตานีร้องเรียนว่ามีการปรับเปลี่ยนสิทธิการให้เช่าและปรับเปลี่ยนขนาดของแผงค้าให้เล็กลง ทำให้ผู้เช่าขาดพื้นที่ที่จะเก็บรักษาสินค้าประมงที่จะต้องดองน้ำแข็งไว้ขายในวันต่อไป และถ้าไปไว้ที่อื่นจะยุ่งยากมาก ตนได้ขอให้ผู้อำนวยการองค์การสะพานปลาลงมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกับทางจังหวัดและผู้ค้าด้วยตนเอง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานและผลเป็นอย่างไรให้รายงานให้ตนทราบต่อไป องค์การสะพานปลาในฐานะรัฐวิสาหกิจและดูแลให้ผู้ค้าที่แผงค้าได้รับความเป็นธรรมต่อไปด้วยในการประกอบอาชีพ
ประเด็นที่ห้า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวซึ่งมีสิทธิแค่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่กลับมาทำธุรกิจและเป็นเจ้าของธุรกิจเอง เท่ากับเป็นการแย่งอาชีพคนไทยและผู้ประกอบการในท้องถิ่น ซึ่งผิดพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 100,00-1,000,000 บาท และถ้ายังไม่เลิกการกระทำมีค่าปรับอีกวันละ 10,000- 50,000 บาท ตนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป