กทท.จ่อเซ็นสัญญาร่วมทุนฯ “แหลมฉบังเฟส 3” ใน ต.ค. รอขั้นตอน ครม.ไฟเขียวปิดดีล 35 ปี มูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาท พร้อมเร่งงานถมทะเล เคลียร์พื้นที่ คาดออก NTP ได้ปลายปี 66 ก่อสร้าง 2 ปี เปิดบริการปี 68
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือน ต.ค.นี้
จากนั้น กทท.จะลงนามสัญญากับกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ต่อไป เนื่องจากร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว
โดยตามแผนงาน กทท.จะออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ให้กลุ่ม GPC เริ่มงานได้ต่อเมื่อ กทท.ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เช่น งานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น คืบหน้าเพียงพอที่จะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่ม GPC ได้ ซึ่งคาดว่าจะออก NTP ให้กลุ่ม GPC ได้ประมาณปลายปี 2566 หรืออย่างช้าต้นปี 2567 เพื่อดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ ลานวางตู้ อาคารสำนักงาน ติดตั้งเครื่องมือ ที่จะดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปีหลังเข้าพื้นที่ และเปิดดำเนินการในปลายปี 2568
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เงื่อนไขสัญญากลุ่ม GPC จะเริ่มจ่ายค่าสัมปทานในปีที่ 3 นับจากออก NTP วงเงินประมาณ 70 ล้านบาทเศษ และปรับเพิ่มขึ้นตามการเจรจาข้อตลงในสัญญา จนถึงปีที่ 35 คิดเป็นค่าตอบแทนทั้งหมด 87,471 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) จะอยู่ที่ 29,050 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ
สำหรับงานด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ กทท.จะดำเนินการเอง 4 งาน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น มีกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด เป็นผู้รับจ้าง วงเงิน 21,320 ล้านบาท โดย กทท.ได้ออก NTP เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564 มีระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 4 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขออนุญาตเรื่องสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทท.ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดงานเพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนด
2. งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค 3. งานก่อสร้างระบบรถไฟ และ 4. งานจัดหา ประกอบและติดตั้งเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อยู่ในขั้นตอนเตรียมประกวดราคา