ผู้จัดการรายวัน 360 - “ซิซซ์เล่อร์” เดินหน้าแพลนต์เบสเต็มอัตราศึก ดันเป้าแพลนต์เบสโต 30% ชี้เทรนด์มาแล้ว ซัปพลายเออร์เพิ่มขึ้น คาดปี 67 ตลาดแพลนต์เบสรวมพุ่งถึง 4.5 หมื่นล้านบาท พร้อมปรับลดราคาเมนูพรีเมียมเฟสติวัลหวังเพิ่มฐานลูกค้า เร่งผุดสาขาเพิ่ม
นายกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ ซิซซ์เล่อร์ กล่าวว่า จากนี้ไปซิซซ์เล่อร์พร้อมที่จะรุกตลาดแพลนต์เบส (Plant-Based Food) หรือนวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนทำจากพืชอย่างเต็มที่และจริงจัง หลังจากที่เริ่มทดลองตลาดมาประมาณ 2 ปี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเราเป็นฟ้ดเชนรายแรกๆ ก็ว่าได้ที่นำเสนอเรื่องอาหารแพลนต์เบสเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคคนไทย และไทยยังนับเป็นประเทศแรกของซิซซ์เล่อร์ทั่วโลกที่นำเสนอเมนูแพลนต์เบสด้วย
“ตอนแรกๆ ที่เราทำตลาดยังไม่ค่อยมีใครรู้จักมากเท่าใดนักว่าแพลนต์เบสคืออะไร เราก็ต้องค่อยๆ ทำตลาดปูพื้นตลาดไปเรื่อยๆ ว่าคืออะไร จนกระทั่งทุกวันนี้ตลาดเริ่มเปิดกว้างและให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งยอดขายของเราเติบโตมากขึ้น วางเป้าหมายภายในปีหน้า (2565) จะมียอดขายจากเมนูแพลนต์เบสเติบโต 30% อีกทั้งช่วงแรกมีซัปพลายเออร์วัตถุดิบแพลนต์เบส 2-3 รายเท่านั้น แต่ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 10-20 รายแล้วทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศ และผู้ประกอบการร้านอาหารเองก็เริ่มเข้าสู่ตลาดแพลนต์เบสกันมากขึ้นด้วย”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งทำให้พฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหารของผู้บริโภคมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้อาหาร “แพลนต์เบส” จึงเป็นอีกหนึ่งประเภทอาหารที่ผู้บริโภคเลือกรับประทาน ซึ่งประมาณการว่าตลาดแพลนต์เบสโดยรวมในไทยทั้งที่ขายปลีกและที่จำหน่ายในฟ้ดเชน ปี 2562 มีมูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% (อ้างอิง: Krungthai COMPASS)
ขณะที่การเติบโตของอาหารแพลนต์เบสทั่วโลกเมื่อปี 2563 มีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ที่มา : Plant Based Meat Market Outlook 2025)
นางสาวนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดซิซซ์เล่อร์ได้เปิดตัวเมนูแพลนต์เบสรอบใหม่เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยปรับกลยุทธ์เน้นเมนูที่เป็นแบบไทยมากขึ้น โดยยังคงซัปพลายเออร์หลัก 2 รายชั้นนำของเอเชียตั้งแต่แรก ได้แก่ “บียอนด์ มีท” และ “กรีนมันเดย์” ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบคุณภาพ สร้างเมนูใหม่คือ 1. เมนู “ออมนิมีต ลาบทอด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียว” (OmniMeat Laab Tod with Sticky Rice) รสชาติเข้มข้นแบบฉบับอีสาน ราคา 299 บาท นอกจากนี้ ออมนิมีต ลาบทอด ยังเสิร์ฟเป็นเมนูรับประทานเล่นราคา 99 บาท, 2. เมนู “สเต๊ก บียอนด์ กัวคาโมเล และซัลซา” (Beyond Steak with Guacamole & Salsa) - สเต๊กเนื้อที่ไร้เนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม สไตล์เม็กซิกัน ราคา 399 บาท จำหน่ายที่ร้านซิซซ์เล่อร์และการสั่งผ่านดีลิเวอรีทั้ง 30 สาขาตั้งแต่วันนี้
“ปกติเราจะออกเมนูแพลนต์เบสใหม่รอบละ 3 เมนู และเปลี่ยนเมนูใหม่ ที่ผ่านมาออกมาแล้วรวม ประมาณ 12 เมนูด้วยกัน และรอบนี้เราปรับราคาลงมาเพื่อสร้างโอกาสและการเข้าถึงของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังได้ปรับราคาในกลุ่มของสเต๊กพรีเมียมเฟสติวัลลงมาเหลือระดับ 400 กว่าบาทเท่านั้น จากเดิมสูงถึง 600-700 ล้านบาท หรือปรับลงมากกว่า 30-40%”
นายกรีฑากรกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดทำให้ซิซซ์เล่อร์ได้เรียนรู้และปรับกลยุทธ์รับมือมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนขยายสาขาที่จะมากกว่าเฉลี่ย 4-5 สาขาต่อปีหากได้ทำเลดี จากเดิมเฉลี่ย 3 สาขาต่อปี จะขยายต่างจังหวัดมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากเหมือนในอดีต 500 ตารางเมตรต่อสาขา แต่เปิดพื้นที่เพียง 300 ตารางเมตรก็สามารถที่จะมีที่นั่งและยอดขายใกล้เคียงกับพื้นที่เดิมได้ ซึ่งจะมีโมเดลใหม่ด้วย แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ รวมทั้งการขยายโอกาสในการเปิดกว้างในทุกทำเล ไม่เน้นเปิดแต่ในศูนย์การค้าเท่านั้น
ในปี 2564 นี้จะเปิดอีก 3 สาขา คือที่โรบินสัน (สระบุรี-ฉะเชิงเทรา-ศรีสมาน) และอีก 2 สาขาเป็นการเปลี่ยนทำเล คือที่ศรีราชา ย้ายสาขาจากแปซิฟิคพาร์คมาเปิดที่เซ็นทรัลศรีราชา และที่เดอะมอลล์ท่าพระปรับเปลี่ยนทำเล ขณะที่ปีหน้าจะเปิดไม่ต่ำกว่า 3 สาขาที่มีทำเลแน่นอนแล้ว
ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์มีสาขานั่งรับประทานในร้านรวม 54 สาขา แต่เปิดบริการ 53 สาขา เพราะอีกแห่งคือที่เอ็มบีเคยังไม่เปิดบริการ และยังมีคลาวด์คิตเชนอีก 5 สาขา และมีซิซซ์เล่อร์ทูโกอีก 5 สาขา และมีแผนที่จะเปิดเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนรายได้จากดีลิเวอรี 15-20% ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ระบาดทำให้ดีลิเวอรีเติบโตดี