“ศักดิ์สยาม” หารือทูตฝรั่งเศส เผยนักธุรกิจสนใจ “รถไฟฟ้าสีส้ม” ขณะที่โรดโชว์ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา (MRO) หวังดึงร่วมทุน PPP หนุนศักยภาพเมืองการบิน พร้อมดัน MR-MAP และแลนด์บริดจ์ ดันไทยฮับขนส่งในภูมิภาค
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังให้ นายตีแยรี มาตู (H.E.Mr. Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และคณะเข้าพบ เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่วันที่ 6 ต.ค. 2564 ว่า ได้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในหลายประเด็น โดยได้เชิญชวนนักลงทุนฝรั่งเศสให้เข้าร่วมลงทุน PPP โครงการก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโครงการที่จะยกระดับขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่การเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก
รวมถึงโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-MAP) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Southern Land Bridge) ที่เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยผ่านจังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Transshipment ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค ขณะที่ทางฝรั่งเศสเองได้แสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงการร่วมลงนามในร่างปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยา กำกับดูแลการคมนาคมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกันในทุกมิติ โดยกำหนดการจัดพิธีการลงนามปฏิญญาดังกล่าว คาดว่าจะจัดขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายในประเทศไทยคลี่คลายลง โดยคำนึงถึงมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ
ส่วนความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนนนั้น เพื่อต่อยอดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีระหว่างกันในด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน รวมถึงด้านเทคโนโลยี (Artificial Intelligence : AI) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอผลงานการคิดค้นและขับเคลื่อนการนำยางพารามาผลิตเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยการปรับรูปแบบนำยางพารามาใช้กับอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนให้แก่ประชาชน
ขณะที่ทางฝรั่งเศสยังได้นำเสนอโครงการ Helicopter Emergency Medical Services (HEMS) ซึ่งเป็นบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ โดยมีแผนจะนำร่องในพื้นที่ EEC
นอกจากนี้ ก.คมนาคมฯ กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) ยังมีโครงการความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมือง และการรักษามรดกชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต (SUTRHE) Project in Phuket ในปี 2563-2564 ซึ่งครอบคลุมถึงโครงการรถไฟฟ้ารางเบา กระเช้าไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะเพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดก โดย AFD ยินดีให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงิน การวิจัย และการศึกษา เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยอีกด้วย