xs
xsm
sm
md
lg

กรมราง MOU ภาคี 72 หน่วยงานพัฒนาระบบรางครบวงจร “ศักดิ์สยาม” แนะต่อยอดวิจัยยกระดับการผลิตในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางเอ็มโอยูร่วมภาคีเครือข่าย 72 หน่วยงาน ผนึกกำลังผลิตและพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีระบบราง เดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมฯ วางแผนงาน 11 ข้อขับเคลื่อนอุตฯ ระบบรางครบวงจร “ศักดิ์สยาม” แนะต่อยอดผลิตชิ้นส่วนในประเทศ สร้างความยั่งยืน ชูแผนพัฒนาไฮสปีด, รถไฟทางคู่, MR-Map ดันไทยฮับอาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” วันที่ 23 ก.ย. ว่า บรรทึกข้อตกลงนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาด้านระบบรางของไทยอย่างยั่งยืน ในการผลิตและพัฒนาบุคลากร การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ผ่านความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเป็น “ต้นแบบ” ของความร่วมมือทางด้านวิชาการที่สามารถนำไปต่อยอดกับการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ อันจะช่วยให้งานวิชาการของไทยในด้านการคมนาคมขนส่งก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินโครงการระบบราง ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ระยะทาง 500 กม. จำนวน 14 เส้นทางซึ่งจะเปิดให้บริการครบปี 2570 โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” สนับสนุนพื้นที่อีอีซี เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งสามารถเชื่อมกับ สปป.ลาว (รถไฟไทย-จีน) รวมถึงรถไฟทางคู่ และแผนแม่บทโครงข่าย MR- Map ซึ่งจะมีระบบรถไฟควบคู่มอเตอร์เวย์ 10 เส้นทางทั่วประเทศ ระยะทางรวมประมาณ 6,500 กม. ซึ่งประเทศมีศักยภาพในทำเลที่ตั้งจะสามารถเป็นศูนย์กลางของการเดินทางทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางรางในอาเซียนได้ ดังนั้น จึงต้องเตรียมการพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางเพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งตนได้มอบนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้ความร่วมมือนี้มีความสมบูรณ์แบบ โดยขอให้คณะกรรมการร่วมพิจารณาแผนด้านบุคลากรที่เป็นรูปธรรม โดยต้องประเมินความต้องการบุคลากรในแต่ละด้าน และตำแหน่งต่างๆ ว่ามีจำนวนเท่าไร รวมถึงผลตอบแทนที่บุคลากรในระบบรางจะได้รับ เพื่อให้มีความมั่นคงและยั่งยืนในการเข้าสู่บุคลากรระบบราง นอกจากนี้ ให้พิจารณาในการผลิตและพัฒนาบุคลากรในระบบรางมืออาชีพเพื่อส่งต่างประเทศได้ด้วย

ด้านนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม 7 ฝ่าย ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางราง, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน), หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน

โดยมีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (2564-2569) ซึ่งหลังจากนี้ภาคีทั้ง 7 ฝ่าย จะตั้งคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของความร่วมมือต่อไป

สำหรับขอบเขตความร่วมมือมี 11 ข้อ ได้แก่ 1. พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2. สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา 3. ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 4. วิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน 5. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง

6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ 7. จัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ

8. สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า 9. ใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ 10. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 11. ร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง






กำลังโหลดความคิดเห็น