xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ยันนำ “พาณิชย์” ผนึกกำลังภาคเอกชน ลุยขับเคลื่อนการค้าใน-ต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” โชว์วิชันดันเศรษฐกิจไทย นำพาณิชย์ผนึกกำลังภาคเอกชนลุยขับเคลื่อนการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทีมเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศเป็นผู้คอยช่วยเหลือ เตือนเอกชนระวังการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่จะรุนแรงขึ้น ต้องปรับตัวให้ทัน ย้ำเตรียมการใช้ประโยชน์จาก RCEP ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เผยกองทุน FTA ชงคลังพิจารณาแล้ว หากเห็นด้วยรอเข้า ครม.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการแสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ นโยบายการส่งเสริมการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ และการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาต่ำ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดงานสัมมนา Together is Power 2021 และมอบโล่รางวัลให้แก่สมาคมการค้าดีเด่น ปี 2564 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า โควิด-19 ยังจะต้องอยู่กับประเทศไทยและกับโลกอีกนาน สิ่งที่เราต้องคิดและต้องทำ คือ จะนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไร ซึ่งตนยืนยัน เน้นย้ำการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน จะต้องยึดหลักรัฐหนุน เอกชนนำ เพราะเอกชนคือทัพหน้าในการทำรายได้เข้าประเทศ

“ถ้าเป็นทีมฟุตบอล เอกชนต้องเป็นกองหน้า เพราะต้องทำหน้าที่ยิงประตู ทำคะแนนที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลเป็นแบ็กสนับสนุนการทำหน้าที่ของภาคเอกชน ต้องจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็งแน่นแฟ้น จึงเป็นที่มาของหลักคิดการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ซึ่งสามารถทำตัวเลขให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุด คือ การส่งออก แต่ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจระหว่างรัฐกระทรวงพาณิชย์กับเอกชน อุปสรรคต่างๆ จะไม่คลี่คลาย การจับมือร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เข้มข้น และถึงลูกถึงคน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องเดินหน้าร่วมกันต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการค้าจากนี้ไป ทีมเซลส์แมนจังหวัดกับทีมเซลส์แมนประเทศจะต้องเดินหน้าต่อไปให้เข้มแข็ง เข้มข้น และปรากฏเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยทีมเซลส์แมนจังหวัดประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด Biz club จังหวัด Micro SMEs ของจังหวัด YEC ของจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด ตัวแทนเกษตรกร SMEs ทุกฝ่าย จะต้องจับมือกันระหว่างรัฐกับเอกชนขับเคลื่อนในระดับจังหวัด จึงมีความสำคัญและทรงพลังอย่างยิ่งที่จะนำ 77 ทีมมาบวกกันและเป็น กรอ.พาณิชย์ระดับประเทศ ทำตัวเลขยิงประตูให้ประเทศ ซึ่งมีการจับมือ ตื่นตัวในการทำหน้าที่ พืชผลเกษตรราคาตก ทีมเซลส์แมนจังหวัดขวนขวายและไปถึงขั้นข้ามจังหวัดค้าขายระหว่างกันตามนโยบาย มังคุดใต้ล้น อีสานช่วยซื้อ ลำไยเหนือราคาตก จับมือกับทีมเซลส์แมนจังหวัดภาคใต้ ภาคตะวันออกช่วยกันแก้ปัญหา

ส่วนทีมเซลส์แมนประเทศ มีทูตพาณิชย์ 58 แห่งเป็นหัวเรือใหญ่ จับมือร่วมกับนักธุรกิจที่ไปลงทุนในต่างประเทศทำการค้าส่งออก จับมือกันเป็นทีม ตนให้นโยบายชัดเจนว่าต้องมีเป้าหมาย มีเกณฑ์ เอกชนต้องใช้ทีมเซลส์แมนจังหวัดและทีมเซลส์แมนประเทศให้เข้มข้นขึ้น เป็นนโยบายต้องอุดหนุนเป็นแบ็กให้กับภาคเอกชน โดยเซลส์แมนจังหวัดกับเซลส์แมนประเทศต้องจับมือกันทำงานร่วมกันให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก ซึ่งที่ผ่านมาทันอยู่แล้ว แต่จากนี้ต้องเตรียมการรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะเข้มข้น หนักข้อขึ้นเป็นลำดับ เพราะภายหลังประเทศพัฒนาแล้วใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาประสบความสำเร็จ หลังจากการรวมตัวกันในระบบพหุภาคี หรือในระบบทวิภาคีในรูป FTA หรือ WTO ทำให้กำแพงภาษีทลายลงภาษีเป็นศูนย์ มาตรการทางภาษีจึงลดความสำคัญลง มาตรการใหม่จึงเกิดขึ้น คือ มาตรการที่มิใช่ภาษี มาเป็นกำแพงกั้นสินค้าที่ไปจากประเทศคู่แข่งหรือประเทศอื่นๆ ต้องจับตาสิ่งเหล่านี้ใกล้ชิด และกำแพงที่มิใช่ภาษีจะถูกคิดค้นขึ้นมา ทั้งที่กำลังทำและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตรการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เพื่อเป้าหมายกีดกันทางการค้าหรือปกป้องการค้าของประเทศ โดยอียูเริ่มแล้วในอีก 2 ปี จะคิดภาษีคาร์บอน 5 สินค้า ได้แก่ 1. เหล็ก 2. อะลูมิเนียม 3. ซีเมนต์ 4. ไฟฟ้า 5. ปุ๋ย ขอให้เอกชนทั้งหลายเตรียมการ

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาผูกมัดติดกับปัจจัยทางการเมือง และกลายเป็นปัจจัยปกป้องกีดกันทางการค้าทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราจะอยู่ตรงไหน คือสิ่งที่เราต้องคิด ทุกคนตอบตรงกันว่าเราต้องผนึกกำลังกับอาเซียน จับมือกับอีก 9 ประเทศ จับมือระหว่างอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเราก็ต้องแข่งกัน แต่ความสมดุลอยู่ตรงไหน รัฐต้องคิด เอกชนก็ต้องคิด จับมือให้เข้มข้น เข้มแข็ง แข่งกันระหว่างบริษัท แต่ระหว่างกลุ่มประเทศต้องจับมือกัน ทั้งนี้ เราต้องขายบริการด้วย บริการที่มีศักยภาพ เช่น ดิจิทัลคอนเทนต์ ประเทศไทยไม่แพ้ใคร แต่ขอให้เราส่งเสริม เด็กรุ่นใหม่ไทยเก่งเยอะ แอนิเมชัน ภาพยนตร์ เราต้องช่วยกันหนุน เอกชนต้องกล้าทำกล้านำ รัฐเป็นแบ็ก กระทรวงพาณิชย์เข้าไปช่วยคิดช่วยทำ ต้องไม่เน้นการแข่งขันเรื่องราคาอย่างเดียว ต้องเน้นคุณภาพ

สำหรับการใช้ประโยชน์จาก FTA และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP กำลังจะมีผลบังคับใช้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบัน ซึ่งไทยมีกำหนดการชัดเจนแล้วว่าจะให้สัตยาบันไม่ช้ากว่าเดือน พ.ย. 2564 หวังว่าจะบังคับใช้ได้ต้นปีหน้า เราต้องรีบศึกษาข้อตกลงว่ามีอะไรบ้าง จะเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจของเราอย่างไร จะได้เปรียบเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซจะแทรกในทุกข้อตกลง รวมทั้งขอเรียนความคืบหน้าเรื่องที่เอกชนเรียกร้องมานาน คือกองทุน FTA ที่จะตั้งขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า โดยบางคนได้ บางคนเสีย จึงต้องหาทางช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่กี่วันนี้ตนได้ลงนามถึงกระทรวงการคลังเรื่องการจัดตั้งกองทุนแล้ว หลังจากผ่านจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะได้มีกองทุน FTA ที่เรียกร้องมานาน

จากนั้นนายจุรินทร์ได้มอบรางวัลแก่สมาคมการค้าดีเด่น 27 สมาคม 57 รางวัล พร้อมย้ำว่าทุกท่านจะปฏิบัติภารกิจลุล่วง เป็นต้นแบบให้แก่สมาคมที่ยังไม่ได้รับรางวัลมาพัฒนาตนเองต่อไป และหวังว่าท่านจะเป็นแม่ทัพสำคัญอีกคนหนึ่งของประเทศที่จะทำคะแนนทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น