นักวิทยาศาสตร์ ทดลองจากขวดพลาสติก เพราะต้องการพิสูจน์ว่าจะลอยไปไกลแค่ไหน เมื่อถูกโยนลงทะเล? ซึ่งเปรียบเสมือนขยะพลาสติกในทะเล พวกเขาทำการทดลองจากขวดพลาสติกจำนวน 25 ขวด โดยปล่อยลงในแม่น้ำคงคาที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมว่าขยะพลาสติกเคลื่อนไปทั่วโลกอย่างไร ระยะทางไกลแค่ไหน
ทุกคนยังไม่รู้ว่าพลาสติกที่ตกลงไปในมหาสมุทรนั้นลอยอยู่ไกลจากที่เราทิ้งมันไว้ ไกลแค่ไหน? หลังจากที่นักวิจัยติดแท็กติดตามในขวดพลาสติก และปล่อยลงในแม่น้ำคงคาและอ่าวเบงกอล พวกเขาพบว่าขวดที่ไกลที่สุดเดินทางได้มากกว่า 1,700 ไมล์ ภายในเวลาประมาณ 3 เดือน
Emily Duncan นักวิจัย ระดับปริญญาเอก ที่ศูนย์นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Exeter กล่าวว่า "มันเคลื่อนไหวเร็วมาก มันแสดงให้เห็นว่าพลาสติกเป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ยึดติดกับขอบเขตทางภูมิศาสตร์และการเมือง” และเขาเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยนี้ตีพิมพ์ใน PLOS ONE
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เกิดขึ้นจากนักวิจัยแห่ง University of Exeter และ Zoological Society of London ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Sea to Source ของ National Geographic Society ซึ่งกำลังค้นคว้าวิธีป้องกันพลาสติกไม่ให้เข้าสู่มหาสมุทรจากระบบแม่น้ำ
พวกเขาเลือกแม่น้ำคงคาในอินเดีย เพราะเป็นเแม่น้ำแห่งหนึ่งของโลกที่มีมลพิษมากที่สุด และเป็นแหล่งขยะพลาสติกในมหาสมุทรจำนวนมหาศาล รวมถึงขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่ถูกทิ้งเป็นขยะทะเลปริมาณมาก (ใน International Coastal Cleanup 2019 ประจำปี 2019 อาสาสมัคร สามารถเก็บขวดเครื่องดื่มพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านขวดจากชายหาดและทางน้ำทั่วโลก และอย่างน้อยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของการทำความสะอาดเหล่านั้น ขวดพลาสติกอยู่ใน 5 อันดับแรกที่เก็บรวบรวมมากที่สุด)
การวิจัยก่อนหน้านี้ของ Duncan เน้นถึงมลภาวะพลาสติกส่งผลต่อเต่าทะเลอย่างไร ซึ่งเป็นเวลาหลายปีที่นักวิจัยใช้แท็กดาวเทียมเพื่อติดตามเต่าทะเล และหากคุณสามารถติดตามเต่าทะเลและค้นหาว่ามันไปที่ไหน Duncan จึงคิดว่า ทำไมเราจะติดตามขวดพลาสติกไม่ได้ ทีมงานจึงได้ใส่ GPS น้ำหนักเบาและแท็กดาวเทียมไว้ในปลอกป้องกัน จากนั้นจึงใส่เข้าไปในขวดพลาสติก
นักวิจัยปล่อยขวดพลาสติก ขนาด 500 มิลลิลิตร จำนวน 25 ขวดลงในแม่น้ำคงคา และอ่าวเบงกอล ซึ่งเปิดออกสู่มหาสมุทรอินเดีย และคอยติดตามขวดโดยใช้ซอฟต์แวร์ติดตามโอเพนซอร์ส ขวดจำนวนมากที่ปล่อยออกมาในแม่น้ำเคลื่อนตัวเป็นขั้น ๆ และติดอยู่ที่ปลายน้ำ บางขวดเข้าไปพัวพันกับอุปกรณ์ตกปลา บางขวดถูกคนที่หยิบมันขึ้นมา และบางขวดก็ติดอยู่ที่ชายหาด ส่วนขวดที่เดินทางเป็นระยะทางที่ยาวที่สุด คือขวดหนึ่งที่ปล่อยลงมาในอ่าวเบงกอล ซึ่งเคลื่อนที่ได้ 1,768 ไมล์ ในช่วงเวลา 94 วัน เดินทางไปตามชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย จากขวดที่ทิ้งลงในแม่น้ำคงคา การเดินทางไกลที่สุดคือ 500 ไมล์
นักสิ่งแวดล้อมรู้อยู่แล้วว่าแม่น้ำเป็นแหล่งสำคัญของพลาสติกในมหาสมุทร ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าขวดเหล่านั้นจะลงเอยในมหาสมุทร แต่การศึกษานี้เผยให้เห็นว่ามลพิษนี้เคลื่อนที่ได้เร็วแค่ไหน “มันแสดงให้เราเห็นว่า พลาสติกกับความสามารถในสภาพแวดล้อมทางน้ำ มันจะเคลื่อนที่ได้เร็วมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องหยุดสิ่งนี้จากแหล่งกำเนิดที่เป็นแผ่นดิน” Duncan กล่าว
นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแจ้งแบบจำลองทั่วโลกของมลพิษพลาสติกโดยพิจารณาว่าลมหรือกระแสน้ำในมหาสมุทรส่งผลกระทบต่อขวดพลาสติกมากน้อยเพียงใด
การมองว่ามลพิษจากพลาสติกไปที่ใดนับเป็นก้าวแรกในการทำความเข้าใจให้ดีขึ้น และอาจช่วยให้ผู้คนนึกภาพขนาดของปัญหานี้ได้ การลองนึกภาพขวดเครื่องดื่มพลาสติก 1.8 ล้านขวดที่ทำความสะอาดจากชายหาดอาจเป็นเรื่องยาก แต่การติดตามขวดหนึ่งขวดที่เคลื่อนลงแม่น้ำอาจง่ายกว่าที่จะเข้าใจ “เราหวังว่าในอนาคตจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษาได้ เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งสามารถเป็นเจ้าของขวดได้และเข้าใจจริงๆ ว่ามันไปได้ไกลแค่ไหน” เธอกล่าว “เราหวังว่ามันจะเป็นเครื่องมือ” เนื่องจากนักวิจัยใช้เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์ส พวกเขาจึงวางแผนที่จะสร้างแพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สที่ผู้คนสามารถติดตามขวดแต่ละขวดทางออนไลน์ได้
บรรจุพลาสติก กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตสมัยใหม่ มีการใช้กันในทุกภาคส่วน และผลิตในแต่ละปีในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็คงทราบดีว่าขยะพลาสติกกำลังส่งผลเสียต่อโลกของเรา ตั้งแต่การทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลไปจนถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของการบริโภคไมโครพลาสติกทั้งในสัตว์และมนุษย์
ยิ่งเมื่อได้เผชิญกับความจริงที่น่าตกใจ ว่าภายในปี 2050 มหาสมุทรของเราอาจมีพลาสติกมากกว่าปลา นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยจึงต้องการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบถึงอันตรายของโลกพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผลงานวิจัยของพวกเขาจึงไม่เพียงแต่เน้นย้ำถึงผลกระทบในวงกว้างของมลพิษจากพลาสติก แต่ยังเรียกร้องให้เราทุกคนลงมือปฏิบัติก่อนที่จะสายเกินไป
ข้อมูลอ้างอิง https://www.fastcompany.com/90581308/how-far-does-plastic-float-when-it-gets-tossed-in-the-ocean