กรมทรัพยากรทางทะเลและชาย (ทช.) รายงานว่าในวันเก็บขยะชายหาดสากลประจำปี 2564 ที่ผ่านมา (International Coastal Cleanup-ICC) ซึ่งตรงกับทุกวันเสาร์เดือนกันยายนของทุกปี (ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 18 กันยายน 2564) โดยกรม ทช.เข้าไปร่วมกับหลายชุมชนที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล ทั้งในฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน จัดกิจกรรมร่วมเก็บขยะบริเวณชายฝั่งทะเล พร้อมคัดแยกเพื่อรายงานผลตามแบบฟอร์ม ICC Card โดยมีรายงานผลจาก 2 แหล่งเป็นตัวอย่าง
แหล่งแรก สำนักงาน ทช.ที่2 (ชลบุรี) ร่วมกับผู้นำชุมชน จิตอาสา เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน จ.สมุทรปราการ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายฝั่งทะเลชุมชนคลองเสาธง ม.5 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ สามารถเก็บขยะได้ 522 กก. เมื่อคัดแยกขยะตามแบบฟอร์ม ICC Card พบขยะส่วนใหญ่เป็น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขยะทั่วไปและโฟม เป็นต้น
แหล่งที่สอง สำนักงาน ทช.ที่๒ (ฉะเชิงเทรา) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก ร่วมกับผู้นำชุม และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ประชาชนจิตอาสาเข้าร่วมกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน เก็บขยะบริเวณชายฝั่งทะเลชุมชนสองคลอง ม.6 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทราทั้งนี้ สามารถจัดเก็บขยะได้ปริมาณทั้งสิ้น 480 กิโลกรัม โดยขยะที่เก็บได้ 5 อันดับแรก ได้แก่ หีบห่อพลาสติกบาง ขวดพลาสติก กระสอบพลาสติก ขยะทั่วไปและโฟม
ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมเก็บขยะ มีการนำขยะที่ได้ไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ตกค้างในระบบนิเวศ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนก็ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
9 ปากแม่น้ำ เส้นทางรวมขยะลงสู่มหาสมุทร
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ข้อมูลปัญหา “ขยะทะเล” ไทยว่า “กว่า 80% ของขยะใต้ทะเล มาจากขยะบนบก ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะตามบ้านเรือน ขยะจากเมือง ขยะในแม่น้ำคลอง โรงงานอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เองก็ไหลไปรวมลงแม่น้ำก่อนออกสู่ทะเล”
มีข้อมูลของ “ธนาคารโลก” ระบุว่า 90% ของ “ขยะ” ในทะเลทั่วทุกมุมโลกมาจากแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน “ เรามีสถานีศึกษาขยะปากแม่น้ํา 9 แห่ง ได้แก่ บางปะกง (ฉะเชิงเทรา) เจ้าพระยา (สมุทรปราการ) ท่าจีน (สมุทรสาคร) แม่กลอง (สมุทรสงคราม) บางตะบูน (เพชรบุรี) ทะเลสาบสงขลา (สงขลา) แม่น้ําปัตตานี (ปัตตานี) บางนรา และแม่น้ําโกลก (นราธิวาส) โดยแบ่งเป็น อ่าวไทยตอนบน 5 สถานี และอ่าวไทยตอนล่าง 4 สถานี”
ในปีที่ผ่านมา ( 2563) พบว่า มีขยะลอยไปติดถุงอวนขนาดปากกว้าง 5 เมตร ลึก 2 เมตร เฉลี่ย 25,741 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 398 กก./วัน) หรือคิดเป็น 9,395,465 ชิ้น/ปี (น้ําหนัก 145 ตัน/ปี)
ขยะทะเลที่พบส่วนใหญ่ไหลออกมาจากปากแม่น้ําบริเวณอ่าวไทยตอนบน พบปริมาณขยะเฉลี่ย 38,914 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 567 กก./วัน) โดยพบปริมาณขยะที่ไหลผ่านมาทางปากแม่น้ําเจ้าพระยามากที่สุด (จํานวนเฉลี่ย 58,277 ชิ้น/วัน น้ําหนัก 462 กก./วัน) รองลงมาคือ ปากแม่น้ําแม่กลอง ปากแม่น้ําท่าจีน และปากแม่น้ําบางปะกง ตามลําดับ
ส่วนบริเวณปากแม่น้ําอ่าวไทยตอนล่างพบปริมาณขยะเฉลี่ย 9,275 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 85 กก./วัน) พบขยะลอยน้ําไหลผ่านปากทะเลสาบ สงขลาออกสู่ทะเลมากกว่าปากแม่น้ําอื่นๆ จํานวนเฉลี่ย 22,730 ชิ้น/วัน (น้ําหนัก 414 กก./วัน) รองลงมาคือ ปากแม่น้ําโกลก
ประเภทวัสดุที่ก่อให้เกิดขยะมากที่สุด คือ พลาสติกแผ่นบาง คิดเป็น 62% ของจํานวนชิ้นขยะทั้งหมด (15,959 ชิ้น/วัน) รองลงมาคือพลาสติกแข็ง (15%, 3,861 ชิ้น/วัน) วัสดุผ้าและไฟเบอร์ (10%, 2,574 ชิ้น/วัน) ตามลําดับ
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา เราก็พยายามเอาขยะออกจากทะเลให้ได้มากที่สุด ด้วยการดำเนินการโครงการต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ เอกชน หรือภาคเครือข่ายสังคม และการจัดเก็บขยะโดยใช้นวัตกรรมทุ่นกักขยะ (Boom), ทุ่นกักขยะลอยน้ํา (SCG-DMCR Litter Trap) รวมถึงใช้เรือเก็บขยะ (Garbage Boat) ผลคือ เราช่วยกันจัดเก็บขยะตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวม ทั้งสิ้น 199,660 กิโลกรัม (หรือประมาณ 199 ตัน)
สำหรับ ขยะที่พบมากที่สุดในทะเลไทย จากการประเมินจากการจัดกิจกรรม เก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup-ICC) ที่จัดขึ้นเป็นประจําในเดือนกันยายนของทุกปี ในปีที่ผ่านมา (ปี 2563) เก็บได้ทั้งสิ้น 128,563 ชิ้น น้ําหนักรวม 11,337 กิโลกรัม หรือประมาณ 11 ตัน เมื่อมาจำแนกจากขยะที่เก็บได้ จึงคาดการณ์ว่า ขยะที่ยังตกค้างใต้พื้นสมุทรมากที่สุด คือ ถุงพลาสติกอื่นๆ (ร้อยละ 24) เศษโฟม (ร้อยละ 11) ถุงก๊อบแก๊บ (ร้อยละ 10) ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) (ร้อยละ 10) ห่อ/ถุงอาหาร (ร้อยละ 6) ขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) (ร้อยละ 6) เสื้อผ้า/รองเท้า (ร้อยละ 3) ฝาจุกขวด (พลาสติก) (ร้อยละ 3) หลอด/ที่คนเครื่องดื่ม (ร้อยละ 2) พลาสติก อื่นๆ/โฟมกันกระแทก (ร้อยละ 2) และถ้วย/จาน (โฟม) (ร้อยละ 3) ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 77 ส่วนที่เหลือเป็นขยะ ประเภทอื่นๆ (ร้อยละ 23) ส่วนปริมาณและชนิดของขยะในปีนี้ ยังต้องรอการรวบรวมจากกรมทช.
นายโสภณ ย้ำว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอย และได้ผลักดันให้ปัญหาขยะมูลฝอยและขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ มีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยที่กรมทช.มีการดําเนินงานจัดทํามาตรการลดปริมาณขยะ ทะเลในพื้นที่เป้าหมายตามหลักวิชาการในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
“แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น คือ “จิตสำนึก” ของทุกคน ที่ต้องร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกของเรายังคงน่าอยู่ ผมว่าทุกคนรู้อยู่แล้ว ขอแค่เริ่มลงมือทำก็เพียงพอ”
ข้อมูลอ้างอิง สถาบันสิ่งแวดล้อม https://www.tei.or.th/th/highlight_detail.php?event_id=1056