xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่งเพิ่มระดับดูแลโครงข่ายคมนาคม 4 จว.เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” กำชับทุกหน่วยเพิ่มระดับเตรียมรับมือในพื้นที่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง หลังปภ.ออกคำเตือนเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ ล่าสุดโครงข่ายคมนาคมใน 17 จังหวัดยังถูกน้ำท่วม 91 เส้นทาง โดยมี 54 แห่งที่ยังสัญจรผ่านไม่ได้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งเตือน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นล้นทางระบายน้ำล้น ช่วงวันที่ 6-10 ต.ค. 2564 นั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ตนได้กำชับหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่อุทกภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งให้ติดตามเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และให้รายงานผลการดำเนินงานมายังกระทรวงฯ รับทราบทุกวัน
 
ทั้งนี้ ศูนย์ Command Center ภัยพิบัติกระทรวงคมนาคม สรุปรายงานอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยทั้งหมด 17 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดอ่างทอง 2.  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3. จังหวัดชัยภูมิ 4. จังหวัดขอนแก่น และ 5. จังหวัดสระบุรี โดยมีโครงข่ายคมนาคมได้รับผลกระทบ รวม 91 เส้นทาง จำนวน 115 แห่ง สามารถสัญจรผ่านได้ 61 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 54 แห่ง แบ่งเป็นทางถนน 51 แห่ง และทางราง 3 แห่ง
 
โดยเป็นถนนทางหลวงและทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบรวม 88 เส้นทาง จำนวน 111 แห่ง สามารถสัญจรผ่านได้ 61 แห่ง สัญจรผ่านไม่ได้ 50 แห่ง แบ่งเป็น เส้นทางของกรมทางหลวง พบทางหลวงถูกน้ำท่วม/ดินสไลด์ และสะพานชำรุด จำนวน 13 จังหวัด 30 สายทาง รวม 55 แห่ง การจราจรผ่านได้ 34 แห่ง ผ่านไม่ได้ 21 แห่ง ส่วนทางหลวงชนบท พบถูกน้ำท่วมรวม 56 สายทาง สามารถสัญจรผ่านได้ 27 สายทาง ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 29 สายทาง แบ่งเป็น น้ำท่วมสูง 22 สายทาง (22 แห่ง) ทางขาด/โครงสร้างทางชำรุด/กัดเซาะ 3 สายทาง (3 แห่ง) สะพานขาด/คอสะพานขาด/ทรุดตัว 4 สายทาง (4 แห่ง)

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางเดินรถที่ได้รับผลกระทบผ่านไม่ได้ 3 แห่ง ได้แก่ 1. ระหว่างสถานีหนองโดน-บ้านหมอ กม.ที่ 113/5 - 116/1 จังหวัดสระบุรี 2. ระหว่างสถานีบำเหน็จณรงค์-สถานีจัตุรัส กม.ที่ 296/5 - 297/7 จังหวัดชัยภูมิ 3. ระหว่างสถานีบำเหน็จณรงค์-สถานีจัตุรัส กม.ที่ 308/5 - 310/2 จังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ รฟท.ปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ ดังนี้ 1) หยุดเดินรถเส้นทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ จำนวน 2 ขบวน และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จำนวน 4 ขบวน 2) เปลี่ยนเส้นทางการเดินรถกรุงเทพฯ-หนองคาย จำนวน 2 ขบวน มาใช้เส้นทางแก่งคอย-ปากช่อง-นครราชสีมา-ชุมทางบัวใหญ่-หนองคาย
 
3) ลดระยะทางวิ่ง จำนวน 10 ขบวน ดังนี้
- กรุงเทพฯ-ลพบุรี จำนวน 4 ขบวน เปลี่ยนเป็น กรุงเทพฯ-บ้านหมอ
- กรุงเทพฯ-พิษณุโลก จำนวน 2 ขบวน เปลี่ยนเป็น ลพบุรี-พิษณุโลก
- กรุงเทพฯ-ตะพานหิน จำนวน 2 ขบวน เปลี่ยนเป็น ลพบุรี-ตะพานหิน
- กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จำนวน 2 ขบวน เปลี่ยนเป็น ลพบุรี-เชียงใหม่

สำหรับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปรับเส้นทางเดินรถที่มีเส้นทางผ่านจังหวัดพิจิตร ได้แก่ สาย 47 กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง, สาย 957 กรุงเทพฯ-แม่สาย และสาย 962 กรุงเทพฯ-ป่าแดด-เชียงของ เปลี่ยนมาใช้เส้นทาง ทล.117 นครสวรรค์-พิษณุโลก แทน

ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้เตรียมพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร สะพานเบลีย์ และจัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกปลอดภัยให้แก่ประชาชนตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกทั้งช่วงนี้ยังอยู่ในฤดูฝนจึงกำชับหน่วยงานในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ กรณีน้ำท่วมสูงได้ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทาง หลักนำทาง ไฟกะพริบ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ วางแท่งแบริเออร์ เรียงกระสอบทราย และกำแพงดินเพื่อชะลอน้ำ กรณีถนนหรือสะพานขาด/ชำรุด ได้เร่งติดตั้งสะพานเบลีย์เชื่อมทาง และกรณีดินไหล่เขาข้างทางสไลด์ ได้นำเครื่องจักรเขาเกลี่ยดินออกเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้สะดวก

นอกจากนี้ยังได้ตั้งจุดให้บริการประชาชน จัดรถ Mobile Service ช่วยเหลือประชาชนกรณีรถเสียบนทางหลวง ช่วยขนย้ายประชาชนและสิ่งของไปยังพื้นที่ปลอดภัย จัดรถบรรทุกไว้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย แจกจ่ายอาหารเครื่องอุปโภคบริโภค และช่วยล้างทำความสะอาดเก็บกวาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนในพื้นที่น้ำลด และได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกรณีเกิดภัยพิบัติให้ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักร ยานพาหนะ กรณีมีการร้องขอจากหน่วยงานอื่นๆ หรือประชาชน












กำลังโหลดความคิดเห็น