ส.อ.ท.เกาะติดปัจจัยเสี่ยง ศก.รับโค้งสุดท้ายปีนี้ทั้งในและต่างประเทศ หลังไฟฟ้าดับในจีนที่อาจกระทบต่อการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบ น้ำมันโลกพุ่งกระทบราคาขายปลีกในไทยสูงต่อเนื่อง น้ำท่วมหลายพื้นที่ หวังรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหามาตรการรองรับไว้ โดยเฉพาะน้ำท่วมต้องไม่ให้ท่วมพื้นที่ ศก.และโรงงานซ้ำรอยปี 2554
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.มีความกังวลถึงสถานการณ์ต่างประเทศ ทั้งปัญหาไฟฟ้าดับในจีนหลายเมือง ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และภาวะน้ำท่วมในไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีนี้ชะลอตัวลงได้อีกแม้ว่ารัฐบาลเตรียมจะเปิดประเทศเพื่อทำให้กิจกรรมต่างๆ ทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวก็ตาม และยังจะส่งผลให้ไทยต้องมีภาระด้านงบประมาณในการดูแลผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากน้ำท่วมหลายจังหวัด
“ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กำลังคลี่คลาย ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงและรัฐบาลเองก็มีแผนที่จะคลายล็อกดาวน์และนำไปสู่การเปิดประเทศในช่วงปลายปีนี้ ทุกคนก็หวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาทยอยฟื้นตัวได้ แต่ยอมรับว่าล่าสุดปัจจัยต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไปทั้งในต่างประเทศ และไทยเองก็เจอภาวะน้ำท่วมหลายพื้นที่ซึ่งสร้างความเสียหายมากพอสมควรและยังคงต้องติดตามใกล้ชิด เราจึงหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้เตรียมแผนรับมือเอาไว้” นายเกรียงไกรกล่าว
ทั้งนี้ สถานการณ์ในไทยที่ 19 จังหวัดประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมรุนแรงและสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ทางการเกษตรแล้วหลายล้านไร่ ถือเป็นการซ้ำเติมภาคแรงงานที่ก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แล้วกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อเข้าไปเป็นแรงงานภาคการเกษตรแทน จะทำให้คนเหล่านี้ และกลุ่มเกษตรกรเดิมได้รับผลกระทบต่อรายได้และภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะสะท้อนกลับมายังแรงซื้อลดต่ำลง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ในไทยปี 2554 ส่งผลกระทบอย่างมากและนับจากนั้นจนถึงปัจจุบันแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบยังไม่ดีขึ้นนัก โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มสะท้อนความเห็นผ่านสื่อมากขึ้น และล่าสุดยังต้องติดตามพายุอีก 2-3 ลูกที่จะเข้ามาในเดือนต.ค.นี้ ทำให้โรงงานในพื้นที่ใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งอยุธยา ปทุมธานี แม้แต่ กทม. ฯลฯ กำลังวิตกหนัก จึงหวังว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแผนรองรับเพื่อไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและโรงงานซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากผลกระทบราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากภาวะตึงตัวของการผลิต (ซัปพลาย) หลังทั่วโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 ทำให้ความต้องการ (ดีมานด์) สูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าเงินบาทของไทยได้อ่อนค่าลงมาสู่ระดับ 33.88 บาทต่อเหรียญ อ่อนค่าสุดรอบ 4 ปี ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันนำเข้าสูงขึ้นอีก ซึ่งปัญหาราคาน้ำมันแพงจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่งจะสูงขึ้น ดังนั้นเห็นว่าหากราคาน้ำมันขายปลีกในไทยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญก็ควรจะต้องเข้ามาดูแลโดยเน้นการปรับโครงสร้างราคาให้เหมาะสม เช่น การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีต่างๆ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปัญหาไฟฟ้าดับในจีนเนื่องจากโรงไฟฟ้าประสบภาวะการนำเข้าถ่านหินได้น้อยลงเนื่องจากขัดแย้งกับออสเตรเลีย และข้อจำกัดในการลดสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มณฑลและภูมิภาคของจีนอย่างน้อย 20 แห่งได้ประกาศใช้แนวทางการตัดไฟ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้อุตสาหกรรมหนักซึ่งอาจจะทำให้ไทยขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรม โดยต้องติดตามใกล้ชิดอีกครั้ง ซึ่งเหล่านี้ก็จะบั่นทอนการส่งออกในที่สุดตามมาด้วย
“ขณะนี้ส่งออกยังเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งค่าเงินบาทอ่อนค่าจะสนับสนุนการส่งออกได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องติดตาม ทั้งค่าระวางเรือที่อาจปรับตัวสูงจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนหลังจากจีนมีปัญหาไฟดับ ซึ่งก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ก็เจอปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนอยู่แล้ว” นายเกรียงไกรกล่าว