xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผหุ้นน่าเล่นเดือน ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์เปิดโผหุ้นน่าลงทุนเดือน ต.ค. ท่ามกลางภาวะตลาดโดยรวมผันผวน ทรีนีตี้ แนะเก็บ 15 หุ้น จาก 5 กลุ่ม รับ ศก.-การบริโภคภายในฟื้น พร้อมมองกรอบ SET Index เดือน ต.ค. 1,550-1,650 จุด ส่วน ASPS ส่องหุ้นรับอานิสงส์รัฐเตรียมปัดฝุ่น "ช้อปดีมีคืน" ช่วงปลายปี พร้อมแนะนำหุ้นส่งออกมีลุ้นกำไรโต 3-9% รับบาทอ่อนค่า ขณะที่ DBSV ประเมิน 3 หุ้นนิคมฯ AMATA, ROJNA, WHA รับผลกระทบน้ำท่วมปีนี้มากน้อยแค่ไหน

ทรีนีตี้ชวนลงทุน 15 หุ้น ใน 5 กลุ่ม

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในเดือน ต.ค.นี้ บริษัทแนะนำหุ้น 15 บริษัท จาก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค.นี้ ประกอบด้วย 

1.กลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น ได้แก่ CPALL, COM7, MAKRO, HMPRO, GLOBAL, DOHOME

2.กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ต่อการใช้ไฟของภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ได้แก่ GULF, GPSC, BGRIM

3.หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการสถานีปั๊มน้ำมันจากอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ OR และ PTG

4.กลุ่มธุรกิจ AMC ที่เรามองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ SCB แต่ราคากลับปรับตัวลงมาแรง ได้แก่ JMT, CHAYO

5.หุ้น 2 บริษัทที่อยู่ในธีม Index rebalancing ซึ่งจากการคำนวณของเราพบว่าหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี MSCI Thailand Standard Index ในรอบถัดไปจะได้แก่ TTB ส่วนหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไปจะได้แก่ AWC

ประเมิน ต.ค. SET Index แกว่งกรอบ 1,550-1,650 จุด

สำหรับทิศทางการลงทุนเดือน ต.ค.นั้น ประเมินว่า SET Index จะเแกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,650 จุด ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนในเดือนนี้มองว่าไฮไลต์จะอยู่ที่พัฒนาการของ Bond yield สหรัฐฯ เป็นสำคัญ เนื่องด้วยขณะนี้นักลงทุนในตลาดยังไม่เชื่อ Dot plots ของ Fed ที่ออกมาก่อนหน้านี้มากนัก ดังนั้น หากมีตัวเลขเศรษฐกิจใดก็ตามที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น จะทำให้ระดับ Fed Funds futures ในตลาดยกตัวสูงขึ้นได้ จนส่งผลให้ Bond yield และเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ลดลง

ขณะที่ปัจจัยในประเทศคงต้องติดตามพัฒนาการเชิงบวกทางด้านวัคซีนและการคลายล็อกดาวน์ในประเทศที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่นับรวมกับ Upside risk ที่อาจเกิดขึ้น หากภาครัฐมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในปีงบประมาณใหม่ หลังจากที่ได้มีการปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ 70% ของจีดีพีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ประเมินว่าจะส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

ในเชิงกลยุทธ์แนะนำเพียงแค่การถือครองหุ้นในส่วนเดิมที่ได้เข้าสะสมก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนี 1,600 จุด ส่วนการเพิ่มน้ำหนักใหม่ยังไม่แนะนำจนกว่าดัชนีจะลงมาใกล้เคียงกับระดับแนวรับเดือนนี้ที่ 1,550 จุด และยังคงโฟกัสไปที่กลุ่มหุ้น Domestic play โดยเฉพาะ Domestic consumption ที่อิงไปกับการฟื้นตัวของภาคแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนั้น ยังได้ประโยชน์จากภาวะความชัน Yield curve ขาขึ้น และมีลุ้นรับข่าวเชิงบวกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ

แนะติดตามประชุม OPEC+ ตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ งบ บจ.

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่

1.ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง จากปรากฏการณ์ Restocking ที่ผ่อนคลายลงและปัญหา Supply-chain disruption มองเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมายังภาคการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ETRON และAUTO

2.การประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 4 ต.ค.ซึ่งเริ่มมีกระแสคาดการณ์ถึงการคืนกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน หากเกิดขึ้นจริงมองเป็นปัจจัยยับยั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบชั่วคราวได้

3.รายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ต.ค.ซึ่งหากออกมาดีมากจะส่งผลต่อคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตให้มีการปรับขึ้นได้จนส่งผลกดดันต่อตลาดทุน

4.การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ซึ่งมองว่าข่าวร้ายได้อยู่ในราคาไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic demand ที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown

ASPS เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์ รัฐปัดฝุ่นช้อปดีมีคืน-ขยายคนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล.เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 4/64 และอาจต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/65 โดยเฉพาะมาตรการช้อปดีมีคืน (ค่าใช้จ่ายหักลดหย่อยภาษีได้) และการเพิ่มวงเงิน หรือขยายเวลามาตรการคนละครึ่ง-ครึ่งใช้ยิ่งได้ออกไปอีก ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ทันช่วงปลายปีบริษัทคาดว่า มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคชุดใหม่ในช่วงปลายปี โดยเฉพาะโครงการช้อปดีมีคืน คาดว่าจะช่วยให้หุ้นกลุ่มค้าปลัก และกลุ่มห้างสรรพสินค้าได้ประโยชน์และกระแสตามไปด้วย เช่น CRC - CPN - DOHOME - HMPRO - COM7 - SPVI - BJC - CPALL

นอกจากนี้ ยังระบุว่าหลังจากที่ภาครัฐปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 70% จากเดิมไม่เกิน 60% ในช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มองว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจ เพราะช่วยหนุนความหวังว่าในอนาคตจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่อีก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/64 เนื่องจากรัฐจะมีช่องทางกู้เงินเพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท กรอบวงเงินใหม่ของรัฐเพิ่มเป็น 2.38 ล้านล้านบาท

โดยเอเซีย พลัส ได้ทำประมาณการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่มีผล และกำลังพิจารณาในช่วงไตรมาส 4/64-ไตรมาส 1/65 จะประกอบด้วย บัตรสวัสดิการ วงเงิน 1.64 หมื่นล้านบาท ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ วงเงิน 3,000 ล้านบาท โครงการคนละครึ่งเฟส 3 วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ยิ่งใช้ยิ่งได้ วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย วงเงินรวม 11,000 ล้านบาท ส่วนโครงการช้อปดีมีคืน อยู่ระหว่างการพิจารณา

จับตา 4 กลุ่มหุ้นส่งออกมีลุ้นกำไรโต 3-9% รับอานิสงส์บาทอ่อน

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASPS) ระบุว่า กระแสทิศทางเงินบาทอ่อนค่าเร็ว ล่าสุดอยู่ที่ 33.95 บาท/ดอลลาร์ (สูงสุดในรอบ 4 ปี) โดยตลอดทั้งเดือนนี้ (Mtd) อ่อนค่ารวมกันแล้ว 5.2% สูงกว่าสมมติฐานฝ่ายวิจัยคาดปี 64 ที่ 32 บาท และยังมีแนวโน้มอ่อนค่าพิจารณาทั้งจากทาง Technical ที่แนวโน้มยังเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากผ่านแนวต้านสำคัญ 33.5 บาท ยังมีพื้นที่ขยับขึ้นได้อีกมาก ขณะที่กรอบแนวต้านสำคัญอยู่บริเวณเดียวกับช่วง Tapering QE ปี 2556 ที่ 36.5 บาท/ดอลลาร์

โดยฝ่ายวิจัย ASPS ประเมิน ทุกๆ บาทอ่อนค่าลงมากกว่าสมมุติฐาน 1 บาท/ดอลลาร์ ช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มส่งออกชิ้นส่วน อาหาร รับเหมา และวัสดุก่อสร้าง มีกำไรเพิ่มขึ้นราว 5.8% 4.8% 3%-9% ตามลำดับ

ส่วนทาง Fundamental : มี 3 ปัจจัยหลักๆ ที่กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงต่อ คือ

1) ความกังวล Fed จะส่งสัญญาณลดระดับ QE ใกล้เข้ามา

2) การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เริ่มสวนทางกัน เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เริ่มทยอยใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น ตรงข้ามกับประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทย ที่ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อ

3) ประเด็นน้ำท่วมในประเทศยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

โดยรวมแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลกระทบต่อ Fund Flow ชะลอไหลเข้าตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และยังสอดคล้องกับสถิติในอดีต คือ เวลาค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทุกๆ 1% มักจะกดดันให้ Fund Flow ไหลออกจากหุ้นไทยเฉลี่ยราว 6.9 พันล้านบาท ในทางกลับกันช่วยหนุนต่อภาคส่งออก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้

DBSV ส่อง 3 หุ้นนิคมฯ AMATA-ROJNA-WHA รับมือน้ำท่วม
   
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ภาวะน้ำท่วมในปีนี้ถือว่าเป็นอีกปีที่หนัก และได้รับผลกระทบไปหลายจังหวัด และล่าสุดการเข้าท่วมที่จังหวัดอยุธยา นอกจากจะมีพื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมากแล้ว จะมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญทางเศรษฐกิจไทยที่ยังดีอยู่

โดยในช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19 จึงมีความน่าสนใจว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจประเภทนิคมอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ AMATA, ROJNA และ WHA ปัจจุบันนั้นได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทางลบต่อผลการดำเนินงานได้ แต่จากการสำรวจสรุปได้ว่ายังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมแต่อย่างใด ตามรายละเอียดคือ

AMATA : ทางบริษัทยืนยันว่ามีการบริหารจัดการเรื่องน้ำอย่างต่อเนื่อง นิคมฯ ของบริษัทจึงมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดภาวะน้ำท่วม ทั้งนี้ นิคมฯ ของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เป็นหลัก

ROJNA : มีนิคมฯ หลักตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดปราจีนบุรี สำหรับสถานการณ์น้ำที่จังหวัดอยุธยาคือ ระดับน้ำในเขื่อนยังสามารถรับได้ ส่วนที่น้ำท่วมจะเป็นที่ราบลุ่ม (ที่รับน้ำ) ส่วนตามคลองระดับน้ำนั้นมากกว่าปกติแต่ไม่มาก สำหรับนิคมฯ ที่จังหวัดอยุธยาน้ำไม่ท่วม เพราะปี 54 ที่เคยท่วมหนักผิดปกติ ได้ทำกำแพงกันน้ำท่วมที่สูงมาก ส่วนนิคมฯ ที่ชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรีไม่ได้มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมมาก เนื่องจากตั้งอยู่บนพื้นที่สูง

WHA : จะมี 2 ส่วนคือ นิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้า-โรงงานให้เช่า สำหรับนิคมฯ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยองเป็นหลัก ส่วนโลจิสติกส์ คลังสินค้า-โรงงานให้เช่า ตั้งอยู่ต่างจังหวัดหลายแห่ง ทางบริษัทยืนยันว่าณ ปัจจุบันยังไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใด

คำแนะนำ ซื้อเพื่อการลงทุนทั้ง 3 หลักทรัพย์ ปัจจัยที่สำคัญขณะนี้คือ การเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเข้ามาไทยได้ คาดว่ามาตรการคลายข้อจำกัดที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้หรือ 1 ต.ค.64 เรื่องลดเวลาการกักกันให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมายังไทยเหลือ 7 วันสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดส หรือการเดินทางมาจากทางอากาศ และ 10-14 วัน สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนยังไม่ครบโดสหรือเดินทางมาจากทางบกหรือทางน้ำ จะช่วยให้กิจกรรมด้านการซื้อ หรือโอนกรรมสิทธิ์ในนิคมฯ ฟื้นตัวดีขึ้น

ราคาพื้นฐานคือ AMATA 23.00 บาท ROJNA 7.64 บาท และ WHA 3.74 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น